สมเด็จพระสุริโยทัย พระวีรกษัตรีแห่งกรุงศรีอยุธยา
การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดจึงมีเหตุการณ์ทำศึกสงครามอยู่มาก และในการทำศึกสู้รบนั้น ก็ดูเหมือนจะมีชาติพม่าเป็นคู่กรณี ที่ขับเคี่ยวต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี
ความดังกล่าวอาจอธิบายได้ว่า เพราะในอดีตนั้น ยังเป็นช่วงระยะเวลาสร้างบ้านสร้างเมือง ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างต้องการผู้คนไว้เป็นกำลังส่งเสริมแสนยานุภาพของแว่นแคว้น รวมทั้งยังมีคติความเชื่อในเรื่องของความเป็นพระมหาจักรพรรดิราช คือ ความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์พระองค์อื่นใด ด้วยการทำศึกสงคราม เพื่อแผ่พระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นจารีตที่ปฏิบัติกันสืบมา ตราบจนกระทั่งลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตกแพร่ขยายเข้ามา ลักษณะความสัมพันธ์ของบรรดารัฐใกล้เคียงกับไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป และการเผชิญหน้าในรูปของการทำศึกสงครามต่อกัน ก็จบสิ้นลงไปด้วย
สงครามระหว่างไทยกับพม่าในประวัติศาสตร์นั้น มีเหตุการณ์เรื่องราวมากมาย จนสามารถบันทึกเป็นเรื่องเป็นราวได้เฉพาะ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็น "พงศาวดารไทยรบพม่า" ซึ่งในเหตุการณ์สู้รบต่อกันนี้ ล้วนเป็นตำนานแห่งการต่อสู้ การเสียสละของบรรพชนคนแล้วคนเล่า ฝากไว้ให้ลูกหลานไทยได้รับรู้ และจดจำไปชั่วกาลนาน
ใน "พงศาวดารไทยรบพม่า" จำนวน ๔๔ ครั้งนี้ ได้มีบันทึกสงครามสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรียกว่า "สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง ปีวอก พุทธศักราช ๒๐๙๑" ได้จารึกพระวีรกรรมแห่งสมเด็จพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระสุริโยทัย ได้พลีพระชนม์ชีพปกป้องพระราชสวามีอย่างองอาจกล้าหาญ จนทรงได้รับการสดุดีพระเกียรติ ให้ทรงเป็นพระวีรกษัตรีในประวัติศาสตร์ชาติไทยพระองค์หนึ่ง และเป็นเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
ความเป็นมาของสงครามระหว่างไทยกับพม่าในครั้งนั้น มีเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ได้รู้ข่าวกรุงศรีอยุธยาเกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช เกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระแก้วฟ้า พระราชโอรส และขุนวรวงศาธิราช และอัญเชิญพระราชอนุชาต่างพระชนนีในสมเด็จพระไชยราชาธิราชขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ"
เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงหงสาวดียกมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว กองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกออกไป ดังมีความบันทึกใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่า
"...ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้วเป็นพระคชาธาร ประดับคชาลังการาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างและควาญ พระสุริโยทัยผู้เป็นเอกอัครราชมเหสี ประดับพระองค์เป็นพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์ สูงหกศอกเป็นคชาธารประดับคชาภรณ์ เครื่องมั่นเสร็จมีกลางช้างและควาญ พระราเมศวรทรงเครื่องสิริราชปิลันะนาวราภรณ์สำหรับพิชัยยุทธสงครามเสร็จ เสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีควาญและกลางช้าง พระมหินทราธิราช ทรงราชวิภูษนา-ลังการาภรณ์ สำหรับพระมหาพิชัยยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับกุญชรอลงกต เครื่องมั่นมีกลางช้างและควาญ ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดฤถี พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยาตราพระคชาธารข้ามฟากไป พระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ โดยเสด็จเหล่าคชพยุหดั้งกันแทรกแซงค่ายค้ำพังคาโดดแล่น มีทหารประจำขี่กรกุมปืนปลายขอประจำคอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเป็นกรรกงโดยขนัดแล้วถึงหมู่พยุหแสนยากร โยธาหาญเดินเท้าถือดาบดั้งเสโลโตมรหอกใหญ่หอกคู่ ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่งซ้ายขวาหน้าหลัง โดยกระบวนคชพยุหสงคราม เสียงเท้าพลและเท้าช้างสะเทื้อนดังพสุธาจะทรุด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า เสด็จยืนพระคชาธารประมวลพลและคชพยุหโดยกระบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา..."
กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จมาในทัพด้วยนี้ ได้ปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ทรงเข้าชนช้างกัน ความในพงศาวดารไทยรบพม่าพรรณนาไว้ว่า "...ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟัน สมเด็จพระสุริโยทัย ด้วยสำคัญว่า เป็นชาย สิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง..."
ความตอนนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว โดยยอมถวายพระชนม์ชีพ เพื่อป้องกันพระราชสวามีจากอันตราย
การสู้รบหลังจากสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราชพระราชโอรส ทรงขับช้างเข้าต่อสู้กับพระเจ้าแปร และกันพระศพสมเด็จพระราชชนนีกลับเข้าพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญประดิษฐานไว้ในสวนหลวงเป็นการชั่วคราว จนเมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดีได้ข่าวว่า กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย อันมีสมเด็จพระมหาธรรมราชา นำกำลังยกลงมาช่วยกรุงศรีอยุธยา ประจวบกับเสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนลง จึงเลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี
ส่วนการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้ว โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง ณ สวนหลวง และให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงเป็นพระอาราม เพื่ออุทิศพระราชกุศล พระราชทานแด่สมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร แล้วพระราชทานนามพระอารามอันเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัยแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์
พระเกียรติคุณแห่งความเสียสละอันยิ่งใหญ่ ในสมเด็จพระสุริโยทัยครั้งนั้นคงเป็นเหตุการณ์ ที่กล่าวขวัญ และสรรเสริญเลื่องลือไปทั่วแว่นแคว้นต่างๆ เพราะปรากฏเรื่องราวในประวัติศาสตร์ต่อมาว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้มีพระราชสาส์นมาถวายแด่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิความว่า
"...ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุต ขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปิตุราธิราช ผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาฯ... ข้าพระองค์ยังไป่มีเอกอัครราชกัลยาณี ที่จะสืบศรีสุริยวงศ์ ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราชธิดาอันทรงพระนามพระเทพกษัตรี ไปเป็นปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญา ในมหานคเรศปราจีนทิศ เป็นทางพระราชสัมพันธไมตรีสุวรรณปัฐพีแผ่นเดียวกันชั่วกาลปวสาน..."
ซึ่งการที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระราชสาส์นมาทูลขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาในครั้งนั้น กล่าวกันว่า เป็นเพราะทรงสดับเรื่องราวแห่งพระวีรกรรมในสมเด็จพระสุริโยทัย พระราชชนนี ก็ปรารถนาที่จะได้หน่อเนื้อเชื้อไข แห่งพระวีรกษัตรีไปเป็นพระอัครมเหสี ดังมีความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ต่อมาว่า ในครั้งนั้นพระเทพกษัตรีกำลังทรงพระประชวรอยู่ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงพระราชทานพระแก้วฟ้าพระราชธิดาไปแทน แต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ขอถวายพระแก้วฟ้าคืน โดยทรงมีเหตุผลว่า
"...เดิมเราจำนงขอพระเทพกษัตรี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระสุริโยทัย อันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับคอช้าง เป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานคร พระยาทิพมนตรี เป็นทูตานุทูตให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรีอยุธยา..."
การขอพระราชทานพระเทพกษัตรี พระราชธิดาในสมเด็จพระสุริโยทัยครั้งนี้ ปรากฏความต่อมาว่า เมื่อพระราชธิดาทรงหายจากอาการพระประชวรแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเชิญเสด็จไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่พระเจ้าหงสาวดีได้ให้กองทัพคุมกำลังมาสกัด และอัญเชิญพระเทพกษัตรีไปยังกรุงหงสาวดีเสียก่อน
พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จึงมิได้พระเทพกษัตรีพระราชธิดาสมเด็จพระสุริโยทัย ตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ แต่ความตอนนี้ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า พระเกียรติคุณแห่งความกล้าหาญในสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น เป็นที่เลื่องลือ และกล่าวขวัญถึงด้วยความยกย่องไปในแว่นแคว้นใกล้ไกล
สมเด็จพระสุริโยทัยพระองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระอัยกีในมหาราชที่สำคัญพระองค์หนึ่งของไทยคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นเอง
พระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัย
เรื่องราวอันเป็นวีรกรรมในสมเด็จพระสุริโยทัย นอกจากจะมีกล่าวไว้ในบันทึกพระราชพงศาวดาร เป็นที่รับรู้ และเล่าขานสืบกันมาแล้ว ยังมีพระราชานุสรณ์ที่ปรากฏเป็นสถานที่ และปูชนียสถาน ซึ่งเกี่ยวเนื่องในพระองค์ ยังปรากฏมาจนทุกวันนี้ นั่นคือ พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย ณ วัดสบสวรรค์ อันเป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพ ณ กรุงศรีอยุธยานั่นเอง
ความเป็นมาของพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้มี ความว่า เมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หลังจากทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหิน- ทราธิราช พระราชโอรสแล้ว ก็ได้เสด็จมาประทับ ณ บริเวณสวนหลวง อันมีพระอารามสบสวรรค์ พระอนุสรณ์แห่งพระอัครมเหสีตั้งอยู่ ประดุจว่า ได้ประทับอยู่ใกล้พระมเหสีที่ทรงอาลัยยิ่ง
บริเวณนี้ต่อมาได้เป็นสถานที่ตั้งของพระราชวังหลังของพระนครศรีอยุธยาด้วย ตราบจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ในพุทธศักราช ๒๓๑๐ แล้วก็คงจะถูกทิ้งร้างเรื่อยมา จนถึงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการตั้งกรมทหารมณฑลกรุงเก่าขึ้น ในบริเวณที่เคยเป็นสวนหลวง วังหลัง และวัดสบสวรรค์ โดยมิทราบว่า สถานที่นั้น มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จมาทรงประกอบพระราชพิธีสังเวยอดีตมหาราช ณ กรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ในพุทธศักราช ๒๔๕๑ พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้ศึกษาสอบค้นเกี่ยวกับสถานที่ตั้งสำคัญในกรุงศรีอยุธยาขึ้น ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นหนังสือชื่อ "อธิบายแผนที่ พระนครศรีอยุธยา" ระบุสถานที่กรมทหารที่สร้างใหม่ว่า อยู่ตรงบริเวณที่เคยเป็นสวนหลวง วังหลัง และวัดสบสวรรค์
ตามหลักฐานที่พระยาโบราณราชธานินทร์ สอบค้นพบนี้ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "เหล่าเสนาข้าทูลละอองธุลีพระบาทราชบริพาร"จึงพร้อมใจกัน ขอพระบรมราชานุญาตสร้างอนุสาวรีย์เทิดพระเกียรติ จารึกข้อความสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระสุริโยทัยไว้ในบริเวณนั้น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัดสบสวรรค์ที่ยังเหลืออยู่อีก ๑ องค์ พระเจดีย์องค์นี้เองที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่าเป็น "... พระเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัย" และได้รับชื่อเรียกต่อมาว่า "พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย"
พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย จึงเป็นปูชนียสถานของวัดสบสวรรค์เพียงแห่งเดียวที่ยังคงปรากฏมาจนปัจจุบัน
การถือพระเจดีย์องค์นี้เป็นพระราชานุสาวรีย์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัย ก็เป็นเหตุผลที่ยอมรับนับถือได้ โดยไม่ขัดเขินใจแก่ผู้ถวายราชสักการะ
พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และงดงามสืบมา โดยเฉพาะในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ทางการได้ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากร ที่โปรดให้สร้างขึ้น ในวโรกาสมหามงคล ดังกล่าว มาประดิษฐานในพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ตามพระนามแห่งพระวีรกษัตรี และพระนามาภิไธยในพระองค์ว่า"พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติทีฆายุมงคล" และได้ทรงมีพระราชดำริให้ก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยประดิษฐาน ณ ตำบลอันเป็นสถาน ที่ทรงสละพระชนม์ชีพ ในการศึกกับพม่า ณ บริเวณทุ่งมะขามหย่องอีกแห่งหนึ่ง
นับว่าพระวีรกรรมแห่งสมเด็จพระสุริโยทัย สมควรได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไปอีกนานเท่านาน
ขอบคุณจาก kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=21&chap.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น