ท่านผู้รู้นักประวัติศาสตร์หลายท่าน คาดกันว่า เริ่มจากแบบอักษรคฤนถ์ของอินเดียใต้ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นอักษรขอม อักษรขอมนี้นำมาเขียนภาษาบาลี สันสกฤตได้สะดวก แต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเห็นว่าการนำมาเขียนเป็นภาษาไทยนั้นไม่สะดวก เพราะไม่มีวรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายกำหนดเสียงสูงต่ำและมีสระน้อย ไม่เพียงพอจะเขียนภาษาไทยได้ตามต้องการ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริแก้ไขแบบอักษรเสียใหม่ให้เป็นลักษณะอักษรไทย (ซึ่งถ้าสังเกตถ้อยคำในศิลาจารึก จะเห็นคำว่า"นี้" อยู่ต่อคำว่า "ลายสือ" ทุกแห่ง คงจะมีความหมายว่าตัวอักษรแบบนี้ยังไม่เคยมี) พระองค์ทรงแก้รูปตัวอักษรให้เขียนได้รวดเร็วกว่าอักษรขอม ทั้งสระและพยัญชนะก็จะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน
แม้ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะมิได้เป็นผู้ทรงประดิษฐ์รูปอักษรขึ้นโดยพระองค์เองก็ตาม (๑) การที่พระองค์ทรงแก้ไขตัวอักษรเสียใหม่ในสมัยกรุงสุโขทัยนั้น นับเป็นการสำคัญ เป็นการพัฒนาต่อยอดทางความคิด คือ การนำภูมิความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่เดิมในขณะนั้นมาพัฒนาให้เกิดความเหมาะสม ให้มีความสะดวกในการจารึกและอ่าน อีกทั้งเสียงที่ใช้นั้นก็มีความครบถ้วนตามลักษณะเสียงที่ใช้ในภาษาไทย สิ่งนี้นับเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นวิวัฒนาการ อันทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางความรู้และวิทยาการในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยะภาพในเชิงภาษาศาสตร์และความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์
ครั้นล่วงรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว จะเป็นระยะเวลานานเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัด มีผู้แก้ไขกลับไปใช้คุณลักษณะบางอย่างตามแบบหนังสือขอม ซึ่งมีสระอยู่ข้างหน้าพยัญชนะบ้าง อยู่ข้างหลังพยัญชนะบ้าง อย่างเช่นใช้ในแบบหนังสือไทยมาจนทุกวันนี้
ตัวอักษรไทยที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงคิดค้นขึ้นนี้ ได้มีผู้นำไปใช้กันแพร่หลายต่อไปในประเทศใกล้เคียงในสมัยนั้น เช่น ในล้านช้าง ล้านนา และประเทศข้างฝ่ายใต้ของอาณาจักรสุโขทัย คือ กรุงศรีอยุธยา
ลักษณะของตัวอักษรไทย
สระ ๒๐ ตัว วรรณยุกต์ ๒ รูป ตัวเลข ๖ ตัว | พยัญชนะ ๓๙ ตัว |
พยัญชนะเติม ๑๐ ตัวคือ ฃ ฅ ซ ฎ ด บ ฝ ฟ อ ฮ จะเห็นว่าพยัญชนะเหล่านี้ได้เพิ่มเข้ามาจากพยัญชนะวรรคมีเสียงที่พ้องกัน เช่น
ฃ พ้องเสียงกับ ข
ฅ พ้องเสียงกับ ค
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชนั้น ตัวอักษรนี้คงออกเสียงเป็นคนละหน่วยเสียงกัน แต่ ฃ กับ ฅ คงจะออกเสียงได้ยากกว่า เราจึงรักษาเอาไว้ไม่ได้ มีอันต้องสูญไปอย่างน่าเสียดาย (๒) เหตุผลคือ ถ้าเป็นหน่วยเสียงเดียวกัน พระองค์จะไม่ทรงคิดเสียงซ้ำกัน เช่นนั้น ฃ กับ ข และ ฅ กับ ค จึงน่าจะเป็นคนละหน่วยเสียงกันเช่นเดียวกับภาษาบาลี สันสกฤต ที่ออกเสียงพยัญชนะวรรคตะ ต่างกับเสียงพยัญชนะวรรคฏะ แต่เมื่อเรารับเข้ามาใช้ เราออกเสียงอย่างเขาไม่ได้ เราจึงออกเสียงเหมือนกัน เช่นเดียวกับ ตัว ส,ษ,ศ ก็เช่นเดียวกัน เขาออกเสียงต่างกันแต่เราออกเสียงเหมือนกันหมด เสียงใดที่ออกยากย่อมสูญได้ง่าย
สิ่งที่น่าเป็นห่วง
ตามคำกล่าวข้างต้น เสียงที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบัน เช่น
- เสียง "ร" เพราะออกเสียงได้ยากกว่าเสียง "ล" นักเรียนในปัจจุบันมักจะออกเสียง "ร" ไม่ค่อยได้เพราะต้องกระดกลิ้น
- เสียง "ท" ที่ปัจจุบันมีผู้นิยมออกเป็นเสียง "ธ" ตามอย่างนักร้องที่มักออกเสียง "ท" เป็นเสียง "ธ"
ธนกร ช่อไม้ทอง : เรียบเรียง (๑) หนังสือพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และรวมเรื่องเมืองสุโขทัย กรมศิลปากร
(๒) เลิกใช้เมื่อปีพระพุทธศักราช ๒๔๗๐ ต่อมาเกิดพจนานุกรมฉบับ ปีพระพุทธศักราช ๑๓๙๓ จึงได้ประกาศเลิกใช้อย่างเป็นทางการ
ขอขอบคุณ www.lib.ru.ac.th/pk/thaifont2.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น