Translate

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ทรัพยากรสัตว์ป่า

   
      
                           
    ทรัพยากรสัตว์ป่า
สัตว์ป่า โดยทั่วๆ ไป เรามักจะหมายถึง เฉพาะสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ได้แก่ สัตว์จำพวกปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บางคนก็หมายถึง สัตว์ที่มีกระดูกหลังที่ไม่เชื่อง หรือที่คนไม่ได้เลี้ยงเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฉบับล่าสุด) ได้ให้คำนิยามของ สัตว์ป่า ว่า หมายถึง สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก แมลง หรือแมงซึ่งโดยสภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้หมายความรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะแล้ว และสัตว์พาหนะที่ได้มาจากการสืบพันธุ์ของสัตว์พาหนะดังกล่าว

ประโยชน์ของสัตว์ป่า

          สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มาตั้งแต่สมัยที่คนยังอาศัยอยู่กับธรรมชาติในป่า หรือในถ้ำ ยิ่งในสมัยปัจจุบันเมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าขึ้น สัตว์ป่าก็ยิ่งกลับมีบทบาทและเพิ่มความสำคัญให้แก่มนุษย์มากขึ้นเป็นลำดับ สำหรับคุณประโยชน์ของสัตว์ป่าที่มีต่อมนุษย์ในด้านต่างๆ ได้แก่

          ๑. ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ การค้าสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าจากส่วนต่างๆ เช่น ขน เขาและหนัง เป็นต้น การค้าสัตว์ป่า จึงถือว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ค้าอย่างงาม และมีเงินหมุนเวียนในประเทศจำนวนไม่น้อย ซึ่งคุณค่าทางเศรษฐกิจจะรวมถึงรายได้ต่างๆ จากการท่องเที่ยวในการชมสัตว์ด้วย
          ๒. การเป็นอาหาร มนุษย์เราได้ใช้เนื้อสัตว์ป่าเป็นอาหารเป็นเวลาช้านานมาแล้ว ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิด ก็ได้มีเลี้ยงจนกระทั่งกลายเป็นสัตว์เลี้ยงไป สัตว์ป่าหลายชนิดตามธรรมชาติคนก็ยังนิยมใช้เนื้อเป็นอาหารอยู่ เช่น หมูป่า เก้ง กวาง กระจง นกเป็ดน้ำ ตะกวด แย้ เป็นต้น รวมทั้งอวัยวะของสัตว์ป่าบางอย่าง เช่น นอแรด กะโหลกเลียงผา เขากวางอ่อน เลือดและกระเพาะต่างๆ ดีงูเห่าซึ่งคนก็นิยมดัดแปลงเป็นอาหาร หรือใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพร และเนื่องจากปัจจุบันสัตว์ป่าได้ลดจำนวนลงอย่างมากและบางชนิดได้สูญพันธุ์หรือใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้น จึงควรช่วยกันเปลี่ยนค่านิยมในการบริโภคอาหารจากสัตว์ป่า
          ๓. การนันทนาการและด้านจิตใจ สัตว์ป่าทำให้ธรรมชาติดูมีชีวิตชีวา การได้พบ ได้เห็นได้ยินเสียงสัตว์ป่าย่อมทำให้เกิดสิ่งบันดาลใจหรือดลใจ ทำให้เกิดความสุขทางจิตใจ เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดได้อย่างดี นับเป็นคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้โดยง่าย การท่องเที่ยวชมสัตว์ป่าในสวนสัตว์ อุทยานแห่งชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และแหล่งสัตว์อื่นๆ จัดเป็นเรื่องของนันทนาการทั้งสิ้น เมื่อได้พบเห็นสัตว์ป่าแปลกๆ และสวยงาม จะทำให้รู้สึกตื่นเต้นและมีความสดชื่นดีใจ ทำให้เกิดพลังที่จะคิดสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป
          ๔. ด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และการแพทย์ การค้นคว้าทดลองในด้านวิทยาศาสตร์ที่ก่อประโยชน์ให้แก่สังคม ในปัจจุบันมีอยู่หลายสาขาวิชาที่จำเป็นต้องอาศัยสัตว์ป่าเป็นตัวทดลองทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา และแพทย์ประสบผลสำเร็จในด้านการค้นคว้าทดลองต่างๆ นอกจากนั้น ยังมีการนำสัตว์ป่าไปเลี้ยงในสวนสัตว์ เพื่อให้ประชาชน นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติได้ชมและศึกษาถึงชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งนับว่ามีคุณประโยชน์เป็นอย่างมากเพราะเท่ากับเป็นการรักษาชนิดพันธุ์สัตว์ที่หายากบางชนิดไม่ให้ต้องถูกล่าจนสูญพันธุ์ไป และในอนาคตคนรุ่นต่อไปอาจจะได้ชมและเห็นสัตว์ป่าบางชนิดก็แต่เพียงในสวนสัตว์เท่านั้น
          ๕. เป็นตัวควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ด้วยกันเอง เช่น ค้างคาวกินแมลง นกฮูกและงูสิงกินหนูต่างๆ นกกินตัวหนอนที่ทำลายพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยประหยัดเงินในการที่จะต้องนำไปใช้ในการกำจัดศัตรู ทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้
          ๖. คุณค่าของสัตว์ป่าต่อทรัพยากรอื่นๆ สัตว์ป่ามีส่วนช่วยหลายอย่าง เช่น
              ๖.๑ ช่วยทำลายศัตรูป่าไม้ ได้แก่ ศัตรูตามธรรมชาติจำพวกโรคและแมลง ศัตรูเหล่านี้จะไม่ระบาดหากมีตัวทำลาย ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดเป็นตัวกำจัดแมลง เช่น นกหัวขวานนกไต่ไม้จะกินแมลงและตัวหนอนตามลำต้นนกกินแมลงจะกินแมลงที่มาทำลายใบ ดอกและผล ตุ่น หนูผี จะกินหนอนที่มากินรากและลำต้นใต้ดิน หากไม่มีสัตว์เหล่านี้แล้ว ต้นไม้จะได้รับความเสียหายและอาจจะตายได้ในที่สุด
              ๖.๒ ช่วยขยายพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าบางชนิดช่วยขยายพันธุ์โดยผสมเกสร เช่น นกกินปลีนกปลีกล้วย และค้างคาว เป็นต้น สัตว์ป่าเหล่านี้จะช่วยผสมเกสรดอกไม้ขณะที่กินน้ำหวานดอกไม้จากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งสัตว์ป่าบางชนิด เช่น นกขุนทอง นกเงือก ลิง ค่าง กวาง กระทิง วัวแดง เป็นต้น จะกินผลไม้เป็นอาหาร แล้วคายหรือถ่ายเมล็ดออกมาตามที่ต่างๆ ที่สัตว์ท่องเที่ยวไป ซึ่งอาจจะช่วยในการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ไปในที่ต่างๆ
              ๖.๓ ช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นมูลสัตว์เกือบทุกชนิดใช้เป็นปุ๋ยได้อย่างดี เท่ากับเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ในขณะเดียวกันเมื่อสัตว์ป่าตายลง ซากของสัตว์ป่าก็จะกลายเป็นปุ๋ยได้เช่นเดียว


การจัดการสัตว์ป่า
          สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่เพิ่มพูนขึ้นได้เช่นเดียวกับ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า ดินและน้ำ แต่จะต้องมีการบำรุงรักษาและใช้อย่างถูกต้อง ปัจจุบันเราใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าอย่างไม่ถูกวิธีเท่าที่ควร เป็นการใช้อย่างสิ้นเปลืองและไม่รู้คุณค่า และไม่พยายามหาวิธีทดแทนให้พอเพียงและเหมาะสม ทำให้สัตว์ป่าบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น สมัน และอีกหลายชนิดกำลังมีจำนวนลดน้อยลงหรือใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น นกยางจีน เป็ดน้ำ กูปรี กระซู่ แรด ละอง กวางผา เป็นต้น และถ้าหากสัตว์ป่าชนิดใดสูญพันธุ์ไปแล้วก็ไม่สามารถสร้างพันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้นขึ้นมาได้อีก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดการสัตว์ป่า เพื่อการอนุรักษ์ต่อไป โดยมีหลักการจัดการดังนี้

          ๑. การป้องกัน เป็นการป้องกันให้สัตว์ป่าคงอยู่ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญของการจัดการสัตว์ป่า โดยสามารถดำเนินการได้ในรูปของการป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่า การจำกัดการล่า การควบคุมสิ่งทำลาย รวมทั้งการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีจิตสำนึก รู้คุณค่าของสัตว์ป่า และให้ความเมตตาต่อสัตว์ เป็นต้น
          ๒. การอนุรักษ์พื้นที่ คือ การอนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่หลบภัยของสัตว์ป่าอย่างปลอดภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารของสัตว์ป่าด้วย โดยทำการป้องกัน บำรุงรักษาและปรับปรุงแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำและอาหารของสัตว์ป่าให้อยู่ในสภาพที่ดี และไม่ถูกทำลายให้สูญหายไป เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ป่ามากที่สุด และมนุษย์เราก็จะได้ใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าอีกทอดหนึ่ง
          ๓. การเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น สามารถทำได้หลายวิธี ซึ่งอาจจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยการควบคุมปัจจัยต่างๆ หรือทำให้เพิ่มขึ้นโดยการช่วยเหลือของคน และใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้าช่วย เช่น การผสมเทียม เป็นต้น
          ๔. การค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ เพื่อนำผลการค้นคว้าวิจัยไปประยุกต์กับการจัดการสัตว์ป่าในอนาคตต่อไป และเมื่อกิจการด้านสัตว์ป่าเจริญมากขึ้น งานป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าก็จะลดลง จึงควรเริ่มงานค้นคว้าวิจัยทางวิชาการให้ควบคู่กับงานด้านการป้องกันและปราบปราม
         ๕. การใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่า โดยหาวิธีที่จะนำสัตว์ป่าต่างๆ มาใช้ให้บังเกิดประโยชน์ต่อสังคมในทางที่เหมาะสม เช่น จัดสถานที่ชมสัตว์ป่าให้ประชาชนได้เข้าไปใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือศึกษาหาความรู้ตามสมควร และหากมีจำนวนสัตว์ป่ามากพอ ก็อาจเปิดให้มีการล่าสัตว์นั้นๆ โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใต้การใช้กฎระเบียบต่างๆ ที่จะปฏิบัติในการล่าสัตว์ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น