Translate

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ดอกบัวชนิดต่างๆ

1. บัวหลวง Nelumbo nucifera Gaertn. ก้าน ใบ – ดอก แข็ง มีตุ่มหนาม ส่งใบดอกชูพ้นน้ำ เป็นไม้น้ำสกุลปทุมชาติ (Nelumbo) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและอบอุ่น พันธุ์กำเนิดในประเทศไทย มี 4 พันธุ์คือ





1.1 ” ปทุม “ เป็นบัวหลวงสีชมพู บางทีก็เรียก บัวแหลมแดง หรือแดงดอกลา กลีบดอกไม่ซ้อนดอกมีขนาดใหญ่ สีชมพูจนถึงแดง เป็นพันธุ์ที่ขึ้นแพร่หลายทั่วไป คนไทยจะคุ้นเคยกับบัวหลวงพันธุ์นี้มากที่สุด เพราะขึ้นในธรรมชาติทั่วไป ในภาษากวีมีชื่อเรียกหลายชื่อเช่น ปทุม ปทุมมาลย์ ปัทมา โกกนุต มีทรงดอกตูมทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมคล้ายรูปหัวใจหงายขึ้น เมื่อโตเต็มที่ขนาดดอกจะกว้างประมาณ 5 – 8 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 10 – 15 เซ็นติเมตร กลีบเลี้ยงมีสีเขียว ขอบกลีบมีสีชมพู มีเส้นกลีบดอกตามแนวยาวชัดเจน มีกลีบเลี้ยง จำนวน 3 กลีบอยู่โคนดอกติดกับก้านดอก กลีบดอกมีขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด มีลักษณะยืดหยุ่นสีชมพู โคนกลีบมีสีเหลืองขอบกลีบเป็นสีชมพูเข้มกว่าตัวกลีบดอก และเห็นเส้นกลีบดอกเรียงตามยาวชัดเจน กลีบดอกเรียงซ้อนกันประมาณ 4 – 5 ชั้น ชั้นในสุดติดกับเกสรตัวผู้ จำนวน 500 – 600 อัน เกสรตัวเมียถูกห่อหุ้มเป็นฝักขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ ประมาณ 25 – 30 เมล็ด อาจจะเป็นเพราะมีเกสรตัวผู้ค่อนข้างมาก ทำให้มีการผสมเกสรทำได้ง่าย จึงทำให้มีการแพร่พันธุ์ของบัวชนิดนี้มากกว่าพันธุ์อื่น เวลาดอกบานจะมีกลิ่นหอมเย็น และกลิ่นค่อนข้างแรง สำหรับบัวหลวงสีชมพูพันธุ์ดอกเล็ก จะสังเกตจากดอกมีขนาดเล็กกว่าปกติ แต่มีลักษณะดอกและสีคล้ายกัน กล่าวกันว่าได้พันธุ์มาจากประเทศจีน บางคนจึงเรียกกันว่า บัวหลวงจีน บัวเข็มบัวปักกิ่ง บัวไต้หวัน
1.2 “บุณฑริก หรือ ปุณฑริก” ชื่อสามัญเรียก บัวแหลมขาว ทรงดอกแหลมสีขาวถึงขาวอมเขียว กลีบดอกไม่ซ้อน บัวชนิดนี้มีน้อยกว่าชนิดแรก ลักษณะดอกตูมรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมคล้ายพันธุ์ดอกสีชมพู ความกว้างของดอกจะน้อยกว่าความยาว ดอกที่สมบูรณ์จะมีขนาดกว้างประมาณ 5 – 8 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 10 – 15 เซ็นติเมตร สีเขียวอ่อน เมื่อดอกบานกลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาว มีเส้นที่กลีบดอกตามแนวยาวชัดเจน โคนของกลีบดอกมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมีความยืดหยุ่นพอ สมควร มีกลีบดอก 4 – 5 ชั้น จำนวน 14 – 16 กลีบ ดอกมีกลิ่นหอมเย็น โคนกลีบดอกเป็นที่อยู่ของเกสรตัวผู้ก้านเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 3 – 3.5 เซ็นติเมตร เกสรตัวเมียรวมกันเป็นฝักขนาดเล็ก ภายในมีเมล็ดบัว จำนวน 15 – 20 เมล็ด เมล็ดอ่อนจะมีลักษณะกลมยาว เมื่อเมล็ดแก่จะกลมมนขึ้น และผิวเมล็ดจะกลายเป็น สีดำหรือเกือบดำ เป็นที่น่าสังเกตว่าบัวชนิดนี้จะพบน้อย อาจเป็นเพราะมีเกสรตัวผู้น้อยและเกสร ตัวเมียน้อยกว่าบัวชนิดแรก ขึ้นได้ดีในระดับความลึกของน้ำประมาณ 15 – 60 เซ็นติเมตร



1.3 สัตตบงกช ” บางทีเรียก บัวฉัตรแดง หรือ บัวป้อมแดง บัวหลวงสีชมพูดอกซ้อน มีชื่อละตินว่า Nelumbo nucifera ชื่อสามัญว่า Roseum plenum ดอกทรงป้อมสีชมพูถึงแดง กลีบดอกซ้อนมากกว่าบัวปทุม ใกล้ฝักจะมีกลีบสีขาวปนชมพูอยู่หลายชั้น เวลาดอกบานแล้วจะเห็นกลีบเล็ก ๆ สีขาวปนชมพูซ้อนอยู่ข้างใน ส่วนกลีบนอก ๆ ก็มีลักษณะเหมือนบัวหลวงทั่วไป บัวหลวงพันธุ์นี้ไม่ค่อยมีเมล็ด
1.4 สัตตบุษย์ ” ชื่อสามัญเรียก บัวฉัตรขาว หรือ บัวป้อมขาว ดอกป้อมสีขาว กลีบดอกซ้อนมาก ดอกตูมมีรูปร่างป้อมกว่าปุณฑริก มีสีขาว กลิ่นหอมจัด
สำหรับบัว สัตบงกชและบุณฑริก คนเหนือเรียกว่า ” บัวพันชั้น “ มีตำนานเป็นวรรณกรรมชาดกเรื่อง ” บัวหอมพันกาบ” ที่คู่กับเรื่อง ” พญาช้างเจ็ดเศียร ” อีกด้วย ดอกบัวเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ปทุมธานี, พิจิตร, สุโขทัย, หนองบัวลำภู, อุบลราชธานี เป็นดอกไม้ประจำวันเกิดของคนที่เกิดวันพฤหัสบดี ด้วยความที่เป็นดอกไม้แทนความสงบและความบริสุทธิ์ใจ จึงเป็น ” รักด้วยความศรัทธาและชื่นชม “ หากหญิงผู้คล้ายดอกบัว เธอคือคนที่มีความต่างอันทรงเสน่ห์ ออกจะเป็นคนลึกลับ ทว่าหาได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มาหลงเสน่ห์ไม่ ความงดงามของเธอหาใช่เกิดจากความปรารถนาจะเป็นหนึ่ง หากเป็นความงดงามอันมีคุณค่า อีกทั้งสกุลรุนชาติก็มิได้ทำให้เธอด้อยค่าหรือมีค่ามากไปกว่าความงดงามแห่งจิตใจ เสน่ห์ของเธอไม่รุนแรงเหมือนดอกไม่สีแสบตา ทว่าเสน่ห์นี้มั่นคงและไม่เสื่อมคลาย กล่าวกันว่าเมื่อแสงอรุโณทัยขับกล่อมบทเพลงแห่งทิวา กรุ่นกลิ่นหอมอ่อนๆ ของปทุมชาติกลายเป็นเสมือนหนึ่งพลังซึ่งสามารถเขย่าหัวใจบุรุษเพศให้กระเจิดกระเจิง …….นักพรตบำเพ็ญภาวนา เมื่อได้กลิ่นหอมนี้ อาจเปิดเปลือกตาด้วยความรัญจวนและว้าวุ่น อาจสลัดความเป็นนักพรตออกดั้นด้นแสวงหากลิ่นหอมนั้น …..ชายหนุ่ม และไม่หนุ่มบางคนอาจแอบรักปทุมชาติ ทั้งที่เขามีดอกไม้อื่นอยู่แล้ว

2. บัวผัน – บัวเผื่อน Nymphaea capensis Thunb. และ Nymphaea stllata Willclenow. ใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ขอบใบจักถี่ ห่าง ไม่มีระเบียบ ดอกชูพ้นน้ำ บานกลางวัน พันธุ์พื้นเมืองมี 4 พันธุ์ คือ

2.1 บัวนิล ดอกสีม่วงเข้ม


2.2 บัวขาบ ดอกสีฟ้าคราม


2.3 บัวผัน ดอกสีชมพู


2.4 บัวเผื่อน ดอกเล็กสีขาว ปลายกลีบดอกสีครามอ่อน แล้วเผื่อนเป็นสีขาวหรือปลายกลีบเป็นสีชมพูเมื่อใกล้โรย

นอกจากนี้มีการผสมปรับปรุงพันธ์จนสามารถให้สีได้ 9 สี คือ ขาว ชมพู แดง เหลือง แสด ฟ้าคราม ม่วงแดง ม่วงน้ำเงิน และเหลืองเหลือบเขียว/ฟ้า


2.5 บัวยักษ์ออสเตรเลีย ตามลักษณะจัดว่าอยู่ในตระกูลบัวผัน ในประเทศไทยพบว่ามี 3 สีที่มีการปลูกคือ ขาว ม่วงอมฟ้าคราม และม่วง

2.6 บัวนางกวัก เป็นบัวในตระกูลบัวผัน แต่มีลักษณะของกลีบเลี้ยงที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด มีสีต่างๆคือ ขาว แดง ฟ้า ชมพู ม่วง เหลือง


3. บัวสาย Nymphaea pubescens Willclenow. ใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ขอบใบจักถี่ แหลม เป็นระเบียบ ดอกชูพ้นน้ำ บานกลางคืน พันธุ์พื้นเมืองไทยมี 3 พันธุ์ คือ

3.1 สัตตบรรณ หรือ สัตอุบล ดอกสีแดง

3.2 เศวตอุบล หรือ กุมุท ดอกสีขาว

3.3 บัวสาย เป็นชื่อบัวกินสายดอกสีชมพูที่ชาวบ้านเก็บมาขายเป็นผัก

4. บัวฝรั่ง Nymphaea spp. มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นและเขตหนาว จึงเรียกบัวฝรั่ง มีหลายชนิดและพันธุ์ ลักษณะเฉพาะคือ ใบกลม ขอบใบเรียบ ดอกลอยหรือ ชูพ้นน้ำเล็กน้อย มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยหลายพันธ์ ให้ดอก 5 สี คือ ขาว ชมพู แดง เหลืองและแสด
5. จงกลนณี ใบลอยอยู่บนผิวน้ำ ขอบใบจักถี่ ห่าง ไม่มีระเบียบ ดอกชูพ้นน้ำ บานกลางวัน กลีบดอกเล็กเรียว ซ้อนมาก ดอกลอยบานตลอดเวลา มีพันธุ์เดียว ดอกมีสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวและมีสีเขียวสลับเมื่อใกล้โรย
6. บัวกระด้ง Victoria regia Lindl. หรือ N.amazonica Sowerby. มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้แถบลุ่มน้ำอะเมซอน ต้น-ใบ-ดอก ใหญ่มาก ใบใหญ่ยกขอบคล้ายกระด้ง มีหนามทั่วทั้งต้น มีพันธุ์เดียวที่ปลูกในประเทศไทย ดอกบานกลางคืน คืนแรกเป็นสีขาว คืนที่ 2 เป็นสีชมพู คืนที่ 3ดอกโรยเป็นสีม่วง




ขอบคุณจาก www.trueplookpanya.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น