สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ
ถึงบทก่อนเราทราบพอเป็นเค้าเป็นเลาว่า
‘ตายแล้วไม่จบ’
แต่ยังไม่ทราบว่า ‘ตายแล้วไปไหน’
สำหรับบทนี้จะพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในภพภูมิต่างๆที่ผู้ ‘ตายจริง’
ได้ไปอยู่กัน
คนที่เห็นการท่องเที่ยวเกิดตายของสัตว์ในสังสารวัฏต่างเกิดมุมมองเดียวกันขึ้นมาอย่างหนึ่ง
นั่นคือสัตว์ทั้งหลายไม่เคยตาย มีแต่เคย ‘เปลี่ยนสภาพ’
หรือ ‘เคลื่อนจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง’
เท่านั้น
แต่สำหรับคนไม่รู้
ไม่มีญาณหยั่งเห็น
ต้องถือว่าไม่มีความผิดที่ปักใจเชื่อได้แค่ตามที่ประสาทตาเนื้อเอื้อให้เห็น
เมื่อใดที่ใครเป็นศพ ก็เหมือนเป็นการโบกมือลาชั่วนิรันดร์ จะไม่ได้พบกันอีก
จะไม่ได้คุยกันอีก จะไม่ได้ทำอะไรๆร่วมกันอีก
เราเลือกได้ที่จะไม่เชื่อ
แต่เราไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงความจริง
เหมือนเช่นเมื่อเรายังไม่รู้เรื่องการประหารชีวิตที่น่าขนพองสยองเกล้า
เราก็ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่ามีอะไรหฤโหดอย่างนี้อยู่บนโลก แต่ถ้ามันมีมันก็มี
นี่เป็นทำนองเดียวกับที่เรายังไม่รู้สภาพความเป็นไปในนรก
เราอาจไม่อยากเชื่อว่ามันมี แต่ถ้ามันมีมันก็มีเช่นกัน ที่สำคัญคือถ้ามันมีจริงก็แปลว่าความหฤโหดทุกชนิดบนโลกมนุษย์เป็นอันถูกลืมได้
เพราะจะไม่มีความทุกข์ใดเทียบเท่าความทุกข์ทรมานในนรกเลยเป็นอันขาด!
เมื่อดำรงอยู่ในความเป็นมนุษย์ด้วยกันนี้
ทุกคนรู้ว่าระหว่างพวกเรามีความต่าง
แต่จะรู้ดีที่สุดว่าความต่างนั้นมีความหมายอย่างไรก็เมื่อเห็นภพภูมิอันเป็นที่ไปของแต่ละคนนั่นเอง
ภพภูมิ
‘ภพ’ คือโลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์
จะเรียกว่าภพ จะเรียกว่าสภาพ หรือจะเรียกว่าภาวะชีวิตก็ได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้เพราะเน้นสภาพแวดล้อม หรือภาวะของอัตภาพที่สัตว์ครองอยู่เป็นสำคัญ
เช่นภพของมนุษย์ย่อมมีแผ่นดิน มีภูเขา มีทะเล มีแม่น้ำ
โดยที่ตัวมนุษย์เองมีหนึ่งหัว หนึ่งตัว สองแขน สองขา
ยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลังอันแสดงสภาพสัตว์ชั้นสูง
โดยคร่าวสุดมีภพอยู่
๓ ระดับ รวมเรียกว่า ‘ไตรภพ’ ได้แก่
๑)
กามภพ ภพของผู้ที่ยังเสวยกามคุณ หมายถึงสภาพต่ำสุดตั้งแต่สัตว์นรก
ไล่มาถึงสัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์
เรื่อยไปจนกระทั่งสูงสุดคือเทวดาผู้ยังพัวพันกับความใคร่ในรูปเสียงกลิ่นรส
๒)
รูปภพ ภพของผู้ที่เข้าถึงรูปฌาน
หมายถึงสภาพของผู้พ้นจากภพอันเกลือกกลั้วด้วยกาม
เพราะมีสมาธิจิตตั้งมั่นถึงระดับฌาน พวกนี้จะมีรูปกายทิพย์ที่สุขุมยิ่ง
สุขุมและประณีตขนาดที่ว่าผัสสะภายนอกทั้งปวงปรากฏแผ่วจนไม่อาจทำให้รู้สึกรู้สาว่าน่าติดใจแต่อย่างใดได้
พวกเขาพึงใจมีชีวิตเพื่อเสพสุขอันเป็นภายในจากสภาพฌานจิตอันยิ่งใหญ่ล้ำลึกเกินจินตนาการ
๓)
อรูปภพ ภพของผู้ที่เข้าถึงอรูปฌาน หมายถึงสภาพของผู้พ้นจากความมีรูป
เพราะสมาธิจิตก้าวล่วงการสำคัญในรูปทั้งปวงเสียได้
พวกนี้มีรู้สึกในอีกระนาบหนึ่งซึ่งเหนือกว่าสุขอันเป็นทิพย์
(หมายเหตุ
– คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไตรภพคือโลกนรก โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์
ความจริงแล้วทั้งสามนี้เป็นเพียงกามภพเท่านั้น)
ส่วน ‘ภูมิ’ นั้นจะเป็นส่วนย่อยของภพอีกที
เพราะเน้นที่ระดับชั้นแห่งจิตมากกว่าจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ร่างกายอันเป็นของภายนอกที่สัมผัสได้ง่ายกว่ากัน
ภูมิแห่งจิตวิญญาณมี
๔ ระดับ ได้แก่
๑)
กามาวจรภูมิ เป็นภูมิจิตที่ยังข้องแวะอยู่กับกามคุณ ๕
คือเสพผัสสะอันน่าพึงใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด
๒)
รูปาวจรภูมิ
เป็นภูมิจิตที่ยึดเอารูปธรรมเช่นลมหายใจหรือสีสันเป็นตัวตรึงจิตให้ตั้งมั่นถึงฌาน
๓)
อรูปาวจรภูมิ
เป็นภูมิจิตที่กำหนดเอานามธรรมเช่นอากาศอนันต์เป็นตัวตรึงจิตให้ตั้งมั่นถึงฌาน
๔)
โลกุตตรภูมิ เป็นภูมิจิตที่เคยเห็นแจ้งว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตน
และความเห็นนั้นจะต้องเหนี่ยวนำจิตได้ถึงฌาน ประจักษ์แจ้งว่านิพพานมีจริง
พ้นสภาพการมีการเป็นทั้งปวงออกไป
คงเห็นว่า
‘ภูมิ’
นั้นจำแนกออกมาได้มากกว่า ‘ภพ’
ทั้งนี้ก็เพราะหลายภพสามารถเป็นที่อยู่ของภูมิจิตระดับโลกุตตระได้นั่นเอง
สังสารวัฏมิได้มีที่อยู่เฉพาะสำหรับอริยบุคคลแต่อย่างใด เว้นแต่อบายภูมิแล้ว
อริยเจ้าปรากฏอยู่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าในโลกมนุษย์นี้ ในโลกสวรรค์
ในโลกพรหม
และที่คนไทยมักเรียกรวมว่า
‘ภพภูมิ’
ควบคู่กันนั้น ขอให้ทราบว่าเป็น ‘ภาพรวม’
ของช่องชั้นที่อยู่ ทั้งลักษณะกายและระดับจิตในระหว่างเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง
โดยมากจะนึกเหมาไปรวมๆได้เพียงโลกมนุษย์ในฐานะระดับที่ตนเป็นอยู่
เห็นว่าชาติปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ชาติหน้าก็คงจะราวๆเดียวกันนั่นเอง
เพื่อให้เข้าใจความหลากหลายระหว่างภพภูมิต่างๆได้ดีขึ้น
ลองมาดูก่อนว่าแค่ ‘โลกมนุษย์’ อันเป็นภพๆหนึ่งนั้น
เรามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังเหมาว่าดาวเคราะห์กลมๆใบนี้คือ ‘โลกของมนุษย์’
อยู่ล่ะก็ ควรปรับความเข้าใจเสียใหม่ คือความจริงมันเป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งรวม
เป็นศูนย์กลางของสัตว์ในภพภูมิอื่นอีกมากนัก
กล่าวคือดาวเคราะห์กลมๆใบนี้เป็นโลกของเดรัจฉาน เป็นโลกของผีเปรต
และเป็นโลกของเทวดาชั้นต้นๆ อีกมากมายเหลือคณานับ
สัตว์บางภพภูมิเช่นเดรัจฉานเราก็มองเห็นด้วยตาเปล่าและสามารถสัมผัสแตะต้องได้ด้วยมือไม้
ทว่าสัตว์บางภพภูมิเช่นเปรตนั้น เราอาจบังเอิญสัมผัสได้ด้วยใจแล้วขนลุก
หรือสัตว์บางภพภูมิเช่นเทวดา
เราก็ได้แต่รู้สึกถึงความอบอุ่นสว่างเบาจากกระแสวิญญาณพวกท่าน
ดังนั้นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งๆจึงไม่จำเป็นต้องเป็นภพของสัตว์หมู่ใดเสมอไป
แต่อาจเป็นแหล่งรวม
เป็นสภาพแวดล้อมให้กับเหล่าสัตว์ในชั้นภูมิต่างๆได้หลากหลาย
เมื่อความจริงเป็นดังนี้
ฉะนั้นแม้แต่ปุถุชนธรรมดาผู้ปราศจากญาณหยั่งรู้ใดๆก็อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภพภูมิอื่นได้
อย่างเช่นสัตวแพทย์หรือคนรักสัตว์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ
และความผูกพันกับสัตว์มากๆ หากเข้าใจอย่างถูกต้องก็จะเริ่มตอบคำถามขั้นพื้นฐานได้
เช่น
๑)
การสื่อสารข้ามภพภูมิเป็นจริงหรือไม่? ต้องตอบว่าเป็นไปได้จริง
อย่างเช่นผู้ที่ฝึกสัตว์สามารถสั่งสัตว์ให้ทำสารพัดสิ่ง
แม้แต่ลิงชิมแปนซีก็แสดงให้เห็นว่าเข้าใจภาษามนุษย์เป็นคำๆ
สามารถเลือกอักษรมาผสมเป็นคำเพื่อสื่อสารง่ายๆกับผู้ฝึกได้
และผู้ฝึกสัตว์หลายคนก็อ้างว่าตนสามารถคุยกับสัตว์รู้เรื่องเป็นอย่างดี
เพียงเห็นภาษากายหรือวิธีส่งเสียงของพวกมัน
๒)
การรับรู้ของสัตว์ในแต่ละภพภูมิแตกต่างกันมากหรือน้อย?
ต้องตอบว่ามากอย่างเกินกว่าที่เราจะจินตนาการถูก
อย่างเช่นสุนัขจะได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าแก้วหูมนุษย์จะสามารถรับรู้
และนอกจากจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คนเราจะไม่ทราบเลยว่ามดมีสองตาก็จริง
ทว่าตาแต่ละข้างประกอบด้วยตาย่อยๆอีก
การเห็นผ่านประสาทตาของพวกมันจึงเกินกว่าที่เราจะนึกให้ออกว่าเป็นอย่างไร
๓)
หมู่สัตว์อื่นก่อกรรมดีชั่วได้หรือไม่? ต้องตอบว่าบางจำพวกก็ก่อกรรมได้
เช่นสุนัขบางตัวที่ถูกฝึกแล้วเป็นอย่างดีสามารถช่วยชีวิตคนได้
แมวบางตัวได้ชื่อว่าเป็นแมวอันธพาลเพราะไล่กัดแมวอื่นแบบนักเลงโต
พฤติกรรมเหล่านี้มิได้อาศัยสัญชาตญาณ
แต่ต้องมีแรงขับดันจากเจตนาซึ่งเป็นอาการทางจิต
และปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลหรืออกุศลได้มาก แต่สัตว์บางจำพวกก็ก่อกรรมไม่ได้
เช่นมดที่เอาแต่ขนของท่าเดียว
ไม่มีปัจจัยให้คิดทำดีหรือทำชั่วแหวกแนวไปจากพวกเท่าใดนัก
ถ้าไม่ใช่มดประเภทที่มีพิษและคิดทำร้ายสัตว์อื่น
ก็พออนุโลมกล่าวว่ามีสัตว์บางจำพวกเกิดมาเพื่อรับกรรมมากกว่าที่จะก่อกรรม
ซึ่งก็คล้ายกับสัตว์นรก แต่สบายกว่าสัตว์นรกหลายเท่า
เมื่อสดับตรับฟังเกี่ยวกับเรื่องของภพภูมิ
เราอาจจินตนาการเปรียบเทียบได้ว่าสังสารวัฏนั้นเสมือนคุก แต่ละภพแต่ละภูมิคือกรงขัง
ซึ่งก็มีทั้งกรงขังสำหรับพวกมีโทษมาก และกรงขังสำหรับพวกมีโทษน้อย
จะต่างจากกรงขังในโลกก็ตรงที่เมื่อใครเข้าสู่ภพภูมิไหนแล้ว
จะไม่มีการรื้อคดีเพื่อพิจารณาย้อนหลังกันใหม่อีกเลย ใครเข้าไปรับกรรมในภพภูมิใด
ก็จะต้องติดอยู่ในภพภูมินั้นๆไปจนกว่าจะถึงกำหนดพ้นโทษตามเหตุที่ก่อมา
การแหกคุกในสังสารวัฏพอมีให้เห็นได้
เช่นการฆ่าตัวตายหนีจากสภาพความเป็นมนุษย์ไป
แต่ว่านั่นเปรียบเหมือนการเพิ่มโทษให้ตัวเองโดยพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ลำบากกว่าเดิม
และคุกก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้คุมไว้คอยไล่ล่าลากคอนักโทษกลับมาให้เหนื่อยแรง
เนื่องจากพ้นเขตกักขังเดิมออกไป ก็เป็นแดนเชื่อมต่อกับเขตกักขังใหม่ทันทีอยู่แล้ว
ราวกับสังสารวัฏเป็นทัณฑสถานที่ไร้ทางออกอย่างสิ้นเชิงฉะนั้น
เราทุกคนต่างเป็นนักโทษประหาร
โดยมีความผิดสถานเดียวคือ ‘ไม่รู้ทางออก’
และ ‘มัวแต่ติดใจเครื่องล่อในคุก’
กันอยู่นี่เอง
คุกแห่งนี้ประหารด้วยการเอาเข้าเครื่องลบความจำแล้วเปลี่ยนแดนกักขังเสียใหม่
ใช้กลอุบายพิสดารล่อใจให้หลงวนติดใจอยู่กับการโดนประหารไปเรื่อยๆ
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่น่าสนใจ
คือเรามีสิทธิ์รู้เรื่องภพภูมิได้มากกว่าที่คิด
เพราะภายในร่างกายและจิตใจของมนุษย์เพียงหนึ่งเดียวนี้
เป็นศูนย์รวมของภูมิจิตได้ครบถ้วนทุกภูมิ นับแต่ต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด!
กล่าวเช่นนี้เพราะเหตุใด?
เพราะถ้าตัดเอารูปร่างหน้าตา เนื้อหนังมังสา หูตาจมูกปากออกไป
เหลือไว้แค่เพียงสภาพของจิตที่เวียนเกิดเวียนดับอยู่อย่างเดียว
เราก็จะเห็นจิตชนิดต่างๆภายในขอบเขตดังต่อไปนี้เท่านั้น
๑)
จิตอันเป็นไปในกามาวจรภูมิ คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นกามคุณ ๕ ทั้งรูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้ามอันยวนตายวนใจ
ถ้าได้เสพสิ่งที่ระคายสัมผัส เช่นตากแดดร้อนกระหายน้ำอยู่กลางทะเลทราย
หรือถ้าไม่ได้เสพสิ่งที่ปรารถนา
เช่นอยากนอนกับใครแล้วเจอข้อจำกัดให้ต้องเร่าร้อนทรมานใจ
อย่างนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นนรกชื่อ ‘ผัสสายตนิกะ’
จะเรียกผัสสายตนิกนรกก็ได้
ส่วนถ้าใครได้เสพสิ่งที่น่าบันเทิงเริงรมย์
เช่นนั่งนอนบนฟูกนุ่มในห้องปรับอากาศเย็นสบายดูหนังฟังเพลงตามต้องการ
หรือได้เสพสิ่งที่ปรารถนา เช่นได้สามีหรือภรรยาถูกใจ
ชวนอภิรมย์ชมชื่นทุกวันคืนไม่ติดขัด
อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่าเป็นสวรรค์ชื่อ ‘ผัสสายตนิกะ’
เช่นกัน จะเรียกผัสสายตนิกสวรรค์ก็ได้
พูดง่ายๆว่าคนเราเวียนว่ายตายเกิดระหว่างนรกและสวรรค์ที่ชื่อผัสสายตนิกะกันตั้งแต่เด็กจนแก่
อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีจิตเป็นมนุษย์ แม้ขณะที่ตกภวังค์ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
ก็เป็นสภาพภวังค์อันสืบต่อรักษาภพแห่งความเป็นมนุษย์ไว้อยู่ดี
ถ้าใครเปรียบเทียบว่าคนชั่วเหมือนสัตว์นรก เดรัจฉาน หรือเปรต
และเปรียบเทียบว่าคนดีเหมือนเทวดา พรหม
ขอให้ทราบว่านั่นเป็นเพียงการอุปมาอุปไมยที่ขาดความจริงทางจิตรองรับ
เพราะตลอดชีวิตเรานับแต่ปฏิสนธิจนจุตินั้น
เป็นได้อย่างเดียวคือมนุษย์
มนุษย์เป็นสัตว์รักสนุก
ชอบกอบโกยความสุขเข้าหาตัว
ดังนั้นความสุขจึงเป็นแรงผลักดันให้ก่อกรรมอันจะได้มาซึ่งวัตถุบำเรอสุข
ซึ่งบางครั้งก็เป็นกุศลกรรม แต่โดยมากจะด้วยวิถีแห่งอกุศลกรรม
เมื่อมนุษย์ก่อกรรมอันใดไว้มาก กรรมนั้นย่อมพาเขาไปสู่ภพอันสมควร
ถ้าน้ำหนักกรรมเอียงไปทางดีก็ล่องลิ่วขึ้นสวรรค์ไป
ถ้าน้ำหนักกรรมเอียงไปทางชั่วก็พุ่งหลาวลงนรกกัน
และคราวนี้จะไม่ใช่ผัสสายตนิกสวรรค์หรือผัสสายตนิกนรก แต่เป็นสวรรค์มีชื่อเป็นต่างๆ
นรกมีชื่อเป็นต่างๆ
อันเป็นภพใหม่ที่ให้ผัสสะเย็นหรือผัสสะร้อนเป็นทวีคูณตั้งแต่อุบัติขึ้นในภพนั้นจวบจนถึงเวลาจุติไป
๒)
จิตอันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ
คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้กำหนดหมาย
โดยเครื่องกำหนดหมายนั้นไม่เป็นโทษ ไม่ก่อให้เกิดความครุ่นคิดฟุ้งซ่าน
อย่างเช่นลมหายใจอันเป็นสมบัติติดตัวพวกเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด
เพียงเฝ้าดูเล่นๆว่ามันเข้า มันออก เดี๋ยวมันยาว เดี๋ยวมันสั้น
ซ้ำไปซ้ำมาไม่นานก็จะเปลี่ยนภาวะคิดสุ่มไร้ระเบียบ
กลายเป็นคิดถึงแต่เรื่องลมหายใจอย่างเดียว และพบด้วยตนเองว่าการคิดถึงแต่ลมหายใจ
ระงับความพะวงหลงแส่ส่ายไปในเรื่องไร้สาระต่างๆนั้น
ให้ผลเป็นความปลอดโปร่งเยือกเย็น มีปีติสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งถึงจุดหนึ่งเมื่อคิดฟุ้งน้อยลงๆจนหยุดคิดถึงเรื่องอื่นใดอย่างสิ้นเชิง
เหลือไว้แต่การรับรู้ในลมหายใจว่าผ่านเข้าผ่านออก ผ่านเข้าผ่านออกอยู่เช่นนั้น
จิตก็แปรสภาพเป็นภาวะสงบประณีต
เหมือนดวงไฟใหญ่ที่ค้างนิ่งอยู่กับการรับรู้สิ่งเดียว ราวกับไม่มีการเคลื่อนของเวลา
มีแต่การไหลเข้าไหลออกของสายลมหายใจยืดยาว ตรงนั้นคือสมาธิระดับฌานขั้นแรก เรียกว่า
‘ปฐมฌาน’
ผู้ที่ถึงปฐมฌานได้ชื่อว่ารู้จักสภาพของจิตอันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ
เริ่มฉลาดในธรรม คือเห็นจิตที่แน่วนิ่งตั้งมั่นนั้นดีกว่าจิตที่สั่นไหวโยกโคลง
แต่ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าอยู่ในรูปาวจรภูมิเต็มขั้นก็ต่อเมื่อสามารถเข้าออกฌานได้ตามปรารถนา
มีจิตใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นปกติ คือนึกถึงลมหายใจเพียงไม่นาน หรือเพียงแวบเดียว
จิตก็เปลี่ยนจากสภาพนึกคิดธรรมดาเป็นสภาพยุติความคิด สว่างโพลงเด่นดวงยิ่งใหญ่
ยับยั้งอยู่ในความรับรู้ลมหายใจอย่างเดียวโดยไม่มีหลงซวนเซ
ไม่เป๋ไปทางไหน
การเป็นผู้ชำนาญเข้าออกรูปฌานได้นั้น
แม้ยังเกลือกกลั้วอยู่กับโลกหยาบ วิถีชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
อย่างน้อยที่สุดจะไม่ไยดีในสภาพแวดล้อมอันเอื้อให้พบกับกามคุณ ๕ อันเผ็ดร้อน
เพราะกามคุณจะเป็นตัวบั่นทอนความสะอาดของจิต และสั่นคลอนความแน่วนิ่งตั้งมั่นได้มาก
ผู้ทรงฌานจะหวงก็เพียงสภาวจิตที่ตั้งมั่นได้ตามปรารถนา
เพราะสุขอันลึกล้ำโอฬารนั้นคุ้มพอจะแลกกับกามอันเป็นของน้อย
ฉะนั้นจึงเป็นปกติหากผู้ทรงฌานจะทิ้งบ้านทิ้งเรือน
ทิ้งความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานทั้งปวง ออกถือเพศบรรพชิต อาจถือวินัยแบบสงฆ์
หรืออาจประพฤติธรรมแบบฤาษีชีไพร
จะมีบ้างเพียงส่วนน้อยที่ยังสามารถประพฤติธรรมได้ทั้งที่ยังเข้าสังคม
ทำหน้าที่การงานอยู่เป็นปกติ
จิตที่พรากจากกามเพราะสามารถเข้าถึงภาวะแห่งฌานได้เป็นปกตินั้นยากจะหลงสติ
ก่อนตายจะอยู่กับรูปฌานที่ตนชินชำนาญ และแล้วเมื่อถึงวาระสุดท้าย
จิตจะวูบดับจากความรู้สึกทั้งมวล คือคลายออกจากรูปฌานเป็นจุติจิต
แล้วเกิดปฏิสนธิจิตขึ้นใหม่ ถัดจากนั้นจึงกลับเข้าสู่ความรู้สึกตัวว่าอยู่ในฌาน
ภายใต้การห่อหุ้มของรูปอัตภาพใหม่ที่ละเอียดสุขุมกว่าเทวดาและมนุษย์
ได้ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นหนึ่งในหมู่สัตว์ที่เรียก ‘รูปพรหม’
๓)
จิตอันเป็นไปในอรูปาวจรภูมิ
คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นอรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้กำหนดหมาย
โดยเครื่องกำหนดหมายนั้นไม่ก่อให้เกิดการสำคัญไปในรูปธรรมทั้งปวง
อย่างเช่นภาวะอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีกรอบจำกัดทางสายตาว่ากว้างประมาณเท่านั้น
หรือยาวประมาณเท่านี้ มีแต่หน่วงนึกด้วยใจ
สำคัญด้วยใจถึงสภาวะแห่งอากาศธาตุอันเวิ้งว้างว่างเปล่าปราศจากขอบเขต
การจะหน่วงนึกอย่างนี้ได้จิตต้องมีกำลัง
มีความตั้งมั่นเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำได้จะผ่านรูปฌานมาก่อนแล้ว
มีความเป็นกลางทางจิตชนิดที่เรียกว่า ‘มหาอุเบกขา’
เป็นพื้นยืนอยู่เป็นทุน เมื่อหน่วงนึกถึงอากาศอนันต์ได้จนจิตรวมลงเป็นฌาน
เขาจะรู้สึกราวกับเห็นอากาศว่างไพศาลเท่าจักรวาล เป็นสภาพเหนือจินตนาการ
คล้ายยกจิตขึ้นไปอยู่ในอีกระนาบมิติหนึ่งที่มีจริงด้วยอำนาจฌาน
ผู้ที่สามารถเข้าถึงอรูปฌานได้เป็นปกติจะมีจิตที่ปราศจากเยื่อใยในความมีรูปทั้งปวง
เห็นรูปทั้งปวงเป็นของเล็กน้อย ไม่น่าแยแส จิตคำนึงถึงแต่นามธรรมอันโอฬารอยู่เนืองๆ
และเมื่อตายลงเพราะกายหยุดทำงาน
เขาก็จะพรากจากสภาพความมีรูปทั้งปวงไปสู่ความไม่มีรูป
มีแต่จิตอันทรงฌานตื่นรู้อยู่อย่างยาวนานเกินจะนับว่ากี่หมื่น กี่แสน
กี่ล้านปี
การเป็นผู้ชำนาญเข้าออกอรูปฌานได้เป็นปกตินั้น
ยากที่จะเกลือกกลั้วอยู่กับโลกหยาบ โดยมากจะเป็นนักบวช
ดำรงชีพอยู่ด้วยการท่องเที่ยวไปในป่าเขาลำเนาไพร โลกทั้งโลกจะปรากฏเป็นภาพลวง
แต่ความว่างจะกลายเป็นของจริงขึ้นมาแทน
ก่อนตายจะอยู่กับอรูปฌานที่ตนชินชำนาญ
และแล้วเมื่อถึงวาระสุดท้าย จิตจะวูบดับจากความรู้สึกทั้งมวล
คือคลายออกจากอรูปฌานเป็นจุติจิต แล้วเกิดปฏิสนธิจิตขึ้นใหม่
ถัดจากนั้นจึงกลับเข้าสู่ความรู้สึกตัวว่าอยู่ในอรูปฌาน โดยไม่มีรูปกายทิพย์ห่อหุ้ม
ได้ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นหนึ่งในหมู่สัตว์ที่เรียก ‘อรูปพรหม’
จิตสามารถไหวตัวรับรู้ความมีความเป็นในจักรวาลได้ แต่เพิกเฉยไม่ยินยลสนใจ
เพราะไม่ทราบจะไปข้องเกี่ยวด้วยอย่างไร
จึงพักการก่อกรรมดีร้ายแบบสัตว์ในภพล่างๆเป็นเวลานานแสนนาน
ด้วยความหลงเข้าใจผิดว่าภาวะของตนคงเป็นอมตะ เป็นนิรันดร์อย่างแท้จริง
แท้จริงได้ชื่อว่าเป็นเพียง ‘อรูปพรหม’
อันจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกเท่านั้น
๔)
จิตอันเป็นไปในโลกุตตรภูมิ คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นอาการเกิดดับแห่งรูปนาม
หรืออาการที่รูปนามแสดงความไม่ใช่ตัวตนออกมาให้ล่วงรู้
อย่างเช่นเมื่อฝึกสติรู้ลมหายใจได้เป็นปกติ ก็สามารถเห็นชัดว่าธาตุลมมีเข้า มีออก
มีหยุด ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยง เช่นเดียวกับอารมณ์สุขทุกข์ทั้งปวง
เช่นเดียวกับสภาพจิตที่สงบแล้วกลับฟุ้ง
และเช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรมทั่วสากลจักรวาล
ต่างก็แสดงตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุ
แล้วมีอายุขัยที่จะต้องดับลงเป็นธรรมดา
เมื่อจิตมีปกติเห็นทั้งตนเองและสรรพสิ่งโดยความเป็นของที่ต้องดับลง
ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนค้ำฟ้า ก็จะค่อยๆถอดความเข้าใจผิด และถอนตนออกจากหล่มกาม
ถอนตนออกจากอุปาทานว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน
กระทั่งเกิดธรรมชาติล้างผลาญเครื่องร้อยรัดจิตให้ติดอยู่กับสังสารวัฏ
เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสที่เรียกกันว่า ‘พระอรหันต์’
ไม่ต้องเวียนกลับมาทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก เกิดแล้วแก่ แก่แล้วเจ็บ
เจ็บแล้วตายเหมือนอย่างสัตว์อื่นที่ไม่รู้ทางออกอีก
พระอรหันต์จะเป็นผู้ไม่เห็นนิมิตหมายใดๆเมื่อใกล้ดับขันธ์
พวกท่านมีจิตสุดท้ายเป็นดับลงแล้วไม่มีจิตใดเกิดขึ้นสืบต่ออีก
แต่สำหรับผู้ที่เริ่มมีความเข้าใจความจริงเกี่ยวกับสังสารวัฏและทางออกจากสังสารวัฏ
เริ่มกำหนดสติดูรูปนามเกิดดับ เริ่มมีความเพียรอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่งจิตไม่ไยดีสิ่งอื่นนอกจากความเห็นรูปนามเกิดดับ
ดังนี้ก็ถือว่าจิตเริ่มเข้ามาอยู่ในโลกุตตรภูมิแล้วเหมือนกัน
เรียกว่าเป็นผู้พยายามเพื่อมี ‘ดวงตาเห็นธรรม’
ธรรมในที่นี้คือความจริงสูงสุด ธรรมในที่นี้คือความว่างจากตัวตน
ธรรมในที่นี้คือพระนิพพานอันปราศจากการเกิดและการดับ
มีแต่ความเปิดเผยไร้ร่องรอยนิมิตอันใดสิ้น
ภพภูมิในมุมมองของผู้มีทิพยจักขุ
ในมุมมองของผู้มีจักษุอันเป็นทิพย์
ล่วงประสาทตาสามัญของมนุษย์ธรรมดา ภพภูมิเป็นเครื่องจำแนกผลกรรมที่ใหญ่ที่สุด
เป็นภาพใหญ่ที่สุดที่เห็นได้ว่าใครเป็นใคร
ทำอะไรมาอย่างหนักโดยมาก
สภาพของภพภูมิต่างๆนั้นเป็นคนละมิติกัน
บางทีเทียบเคียงให้เข้าใจทั่วถึงได้ยาก อย่างเช่นเขตแดนในสวรรค์และนรกนั้น
ไม่ใช่แผ่นดินซึ่งมีพื้นที่ตายตัว
และไม่ใช่เขตต่อเนื่องถึงกันเหมือนดาวเคราะห์อย่างโลกเรา
แต่นิมิตแห่งสภาพแวดล้อมเช่นความเป็นป่าเขา ลำธาร ต้นไม้ เปลวไฟ บ้านเรือน
ปราสาทราชวัง พอจะเปรียบเทียบได้กับที่เห็นๆในโลกเรา
เพียงแต่มีความหยาบและความประณีตผิดแผกแตกต่างจากกันตามลำดับภพภูมิ
อย่างไรก็ตาม
จิตที่คิด จิตที่เห็นถูก จิตที่เห็นผิด จิตที่เสวยสุข จิตที่เสวยทุกข์
แม้เทียบน้ำหนักแล้วห่างชั้นกันเพียงใด ก็สามารถอนุมานเอาได้จากจิตแบบมนุษย์นี้
ฉะนั้นการชี้เน้นเข้ามาที่สภาพแห่งจิตย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกสัมผัสถึงภพภูมิต่างๆได้มากกว่าการกล่าวถึงรูปทรงหรือสถาปัตยกรรมของเคหสถานในภพอื่นกันตรงๆ
สัตว์ในแต่ละภพภูมิจะเห็นว่าทั้งโลกมีแต่พวกของเขา
และรู้สึกว่าไม่มีสิ่งอื่นสำคัญกว่าพวกของเขา
ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือสัตว์ในภพมนุษย์ คือพวกเรานี่เอง
ถึงแม้จะร่วมอาศัยในดาวเคราะห์ดวงเดียวกันกับสัตว์ในภพอื่น ก็จะมองไม่เห็น
ทั้งเปรตและเทวดา หนักไปกว่านั้นคือแม้แต่เหล่าเดรัจฉานที่วิ่งกันให้เกลื่อน
บางลัทธิยังอุตส่าห์สร้างความเชื่อว่าพวกมันไม่มีจิตวิญญาณ
หรือเป็นเพียงวัตถุที่เกิดมาให้มนุษย์กัดกินโดยเฉพาะ
การไร้ความสามารถเห็นสัตว์จุติและอุบัติด้วยแรงกรรม
การไร้ญาณหยั่งรู้ว่าภพภูมิอื่นมี โลกหน้ามี อดีตชาติมี ล้วนแล้วแต่ตีกรอบ
ครอบมุมมองของพวกเราให้คับแคบจำกัด
มีการถกเถียงกันที่โน่นที่นี่ว่าตายแล้วไปเกิดต่อหรือดับสูญ
ทั้งๆที่เหล่าวิญญาณกำลังทะลักเข้าทะลักออก
แลกเปลี่ยนหมุนเวียนจากฟากต่างๆไปสู่ฟากต่างๆอยู่ทุกวินาที แม้แต่มนุษย์กับเดรัจฉานก็มีการแลกฝั่งกันที่โน่นที่นี่อยู่ตลอดไม่ขาดสาย
มนุษย์ตายกันวินาทีละประมาณ ๒ คน
เราไม่รู้หรอกว่าแต่ละนาทีมีคนกลายร่างเป็นสัตว์กันทั้งหมดกี่ราย!
ความไม่รู้
ความไม่เห็น ล้วนเป็นความมืดทึบที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งเสียกว่าก้นลึกสุดของถ้ำ
คนส่วนใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกันออกมาจากความไม่รู้
และทะนงหลงยึดเหตุผลของตนว่าเป็นสิ่งน่าเลื่อมใส
ส่วนใหญ่คนที่ได้ข้อสรุปจากเหตุผลของตนเองว่าชาติหน้าไม่มี ชาติก่อนไม่มี
ผลกรรมไม่มี จะเป็นพวกที่ทำทุกสิ่งได้ตามอำเภอใจ กิเลสสั่งให้ทำอะไรก็ทำ
ไม่ต้องกลัวผลกรรม ไม่ต้องละอายต่อบาปใดๆทั้งสิ้น
ขอเพียงศึกษาและฝึก
‘วิชารู้ตามจริง’
ของพระพุทธเจ้า จิตจะเหมือนแสงสว่างส่องเข้าไปเห็นที่มืดเดิม
เริ่มตั้งแต่อาณาบริเวณที่เราแต่ละคนอาศัยอยู่นี่เอง
และสามารถเห็นได้ว่าภพภูมิใหม่อาจฉายเงาได้ตั้งแต่ขณะยังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ทีเดียว
อย่างเช่นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียว
ละโมบโลภมาก คิดแต่จะแสวงประโยชน์เข้าตัว
จะมีเงามืดก่อตัวขึ้นเหมือนหลุมดำที่คอยดึงดูดเอาความชั่วร้ายทั้งหลายเข้าหาตัว
แม้แกล้งทำดีมีเมตตา
กระแสจิตก็จะไม่แผ่ผายออกทำความรู้สึกอบอุ่นใจให้แก่คนใกล้ชิดได้สักเท่าใด
บางครั้งเขาอาจรู้สึกอึดอัด แต่ก็ไม่สนใจ
เพราะกิเลสสั่งให้สนใจแต่การกอบโกยท่าเดียว
แม้ขณะเป็นมนุษย์เขาร่ำรวยจากการคดโกง
แต่ผู้มีทิพยจักขุย่อมเห็นความร่ำรวยของเขาเป็นเพียงภพหลอกตา
เพราะภพจริงที่จิตเขาก่อขึ้นนั้นคือความยากจนข้นแค้น
เขาสร้างโซ่ตรวนรัดตนเองไว้กับดินแดนแห้งแล้งไร้ความอบอุ่นไว้ให้ตัวเองได้อยู่อาศัย
เขาจะเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย
หันหน้าไปหาความช่วยเหลือจากทางใดก็จะถูกปิดกั้นจากทางนั้น
การขาดแคลนน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลกก็คือการสร้างภพที่ขาดแคลนความชุ่มเย็นต่อตนเอง
แม้จิตวิญญาณในปัจจุบันก็แห้งแล้งเหมือนดอกไม้ขาดน้ำ ขอเพียงมีน้ำใจ มีความคิดสละ
ยิ่งมากเท่าไหร่ ใจจริงก็ยิ่งรินเมตตาออกมาเท่านั้น
กระแสความรู้สึกที่ผายออกกว้างนั้นเองคือภพแห่งความสบายไม่ขัดสนในเบื้องหน้า
หรืออย่างเช่นคนที่ปราศจากศีล
ไม่มีความซื่อสัตย์ ไร้ความอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุให้กระทำผิด
จะมีเงามืดทาบทับจิตวิญญาณของเขาเหมือนยกกำแพงหนาทึบขึ้นตั้งบังแสงสว่าง
เรื่องที่น่าจะรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกว่าดี กลับเห็นเป็นของเลว แต่ที่ชัดเจนว่าเลว
กลับเห็นเป็นของดี ฤทธิ์ของกิเลสสามารถกลับจิตให้เห็นนกเป็นไม้ เห็นไม้เป็นนก
ทำจิตให้เห็นดำเป็นขาว เห็นขาวเป็นดำได้อย่างเหลือเชื่อ
แม้ขณะเป็นมนุษย์เขาสะสวยหรือหล่อเหลาจากบุญเก่า
หรือจากการเสริมแต่งด้วยศัลยกรรม
แต่ผู้มีทิพยจักขุย่อมเห็นความสวยหรือหล่อของเขาเป็นเพียงภพหลอกตาชั่วคราว
เพราะภพจริงที่จิตเขาก่อขึ้นนั้นคือความหม่นหมอง ปราศจากสง่าราศี
ดูไม่น่าชื่นตาชื่นใจเหมือนเปลือกนอกที่ห่อหุ้มอยู่
แม้ตัวเขาเองจะทะนงในรูปลักษณ์ที่ดึงดูดเพศตรงข้ามได้
แต่ก็จะไม่ปลื้มใจกับความอัปลักษณ์ที่ฉายออกมาจากภายใน
เป็นที่รู้อยู่แก่ใจตนเองเลย
การขาดสง่าราศีของศีลก็คือการสร้างภพที่ขาดความงามสะอาดตา
แม้จิตวิญญาณในปัจจุบันก็มอมแมมเหมือนคนตกลงไปในบ่อโคลน ขอเพียงมีจิตใจใสสะอาด
มีความคิดซื่อ ยิ่งมากเท่าไหร่ ใจจริงก็ยิ่งปราศจากมลทินเท่านั้น
กระแสความรู้สึกที่หมดจดงดงามนั้นเองคือภพแห่งความดูดีไม่มีที่ติในเบื้องหน้า
ธรรมดาคนส่วนใหญ่จะครึ่งดีครึ่งร้าย
จะไม่มีหลุมดำดึงดูดความชั่วร้ายเข้าสู่ตัวชัดเจน
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีกระแสธารแห่งความเมตตาแผ่ผายออกมาล้นหลาม จึงเป็นเรื่องดูยาก
ตัดสินยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ปราศจากญาณ
หรือแม้กระทั่งผู้มีญาณเบื้องต้นที่ไม่ถึงระดับทิพยจักขุ
ก็ไม่อาจสัมผัสได้แน่นอนว่าผู้ใดมีน้ำหนักเอนเอียงไปทางไหน
และแม้แต่ผู้มีทิพยจักขุซึ่งเห็นภพอันเป็นที่ไปของใครสักคนแจ่มชัด
เพราะราศีสวรรค์แจ่มจ้าออกมาดูเรืองโรจน์โชติช่วง
ก็ไม่อาจทำนายชนิดเอาคอเป็นประกันว่าใครคนนั้นจะต้องพุ่งขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน
เนื่องจากภพของจิตเคลื่อนได้เรื่อยๆ วันนี้ชอบทำความดี
วันหน้าอาจเคลื่อนไปชอบทำความชั่วโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว วันนี้ทำสมาธิได้ถึงฌาน
วันหน้าอาจเคลื่อนหล่นลงมาเป็นคนฟุ้งซ่านสติแตก เพราะไปทำกรรมบางอย่าง
เช่นอวดโอ้โอหัง ลองดีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปทั่ว
อย่างนี้ก็มีให้เห็นมาก
โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยกับดักหลุมดำดึงดูดผู้คนให้ลงต่ำ
ทั้งสื่อลามก ทั้งสงครามฆ่าฟัน ทั้งการแข่งขันแย่งความสำคัญกัน
จึงไม่น่าสงสัยว่าความรู้ความเห็นของคนทั่วไปทำไมวิปริตผิดเพี้ยนกันใหญ่
บางทีเอาโจรมาเป็นพระเอก บางทีคนดีเหนียมอายกับการทำดี
บางทีการทำเรื่องน่าละอายกลายเป็นการพิสูจน์ความใจถึง ภพของคนส่วนใหญ่จึงเป็นภพที่ชั่ว
โดยไม่รู้ตัวว่าจิตของตนยึดติดอยู่กับภพที่ชั่ว
เพราะสภาพแวดล้อมทั้งมวลพากันตะล่อมหลอกว่าภพที่ชั่วคือภพปกติของคนทั่วไป
ต่อเมื่อรู้จักพุทธศาสนา
ศึกษาวิชา ‘รู้ตามจริง’
ของพระพุทธเจ้า ก็จะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรคือกุศล เป็นธรรมชาติด้านสว่าง
มีความรุ่งเรือง เพื่อความสุขสบาย อะไรคืออกุศล เป็นธรรมชาติด้านมืด มีความอับทึบ
เพื่อความทุกข์ร้อน
จึงค่อยสามารถดึงตัวเองออกมาจากหลุมดำต่างๆที่ตนติดหล่มอยู่ได้ทีละเปลาะ
กำเนิด
๔ และคติ ๕
ภพน้อยใหญ่นั้นมีมากมายเหลือคณานับ
และแม้วิธีอุบัติขึ้นในภพภูมิทั้งหลายก็ผิดแผกแตกต่างกัน
พระพุทธเจ้าจำแนกความต่างอันสลับซับซ้อนให้เป็นของง่าย โดยแบ่งกำเนิดออกเป็น ๔ วิธี
และคติออกเป็น ๕ สถาน
กำเนิด ๔ รูปแบบวิธีมีดังนี้
๑)
อัณฑชะกำเนิด สัตว์เกิดโดยการชำแรกเปลือกแห่งฟองไข่
๒)
ชลาพุชะกำเนิด สัตว์เกิดโดยชำแรกไส้
(ในมนุษย์หมายถึงมดลูก)
๓)
สังเสทชะกำเนิด สัตว์เกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ
ในเถ้าไคล (คือในของสกปรกทั้งหลาย)
๔)
โอปปาติกะกำเนิด เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก
(ผุดเกิดขึ้นเต็มตัวโดยมิได้อาศัยทางออกอื่น)
ส่วนคติหรือที่ไปนั้น
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าท่านกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ
ทราบชัดว่าผู้ใดปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น
เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ท่านสามารถเล็งเห็นด้วยทิพยจักขุอันล่วงจักษุของมนุษย์
ว่าผู้นั้นจะเข้าถึงคติที่เป็นไปได้ ๕ สถาน ดังนี้
๑)
วิสัยนรก
ทั้งพระสาวกผู้มีทิพยจักขุในอดีตและปัจจุบัน
ได้ใช้คำบรรยายตรงกันโดยมิได้นัดหมายคือเป็นสถานที่ที่ ‘แออัดยัดเยียด’
กันระหว่างสัตว์นรกทั้งปวง
ถ้าประมาณไม่ถูกก็ขอให้นึกถึงเหล่าหนอนไหน่ที่รุมเจาะไชซากศพ
แม้จะมีปริมาณศพนับล้านร่าง
ก็ยังไม่พอรองรับเหล่าหนอนที่มารุมไชกันเอาเลย!
ผู้มีทิพยจักขุย่อมเห็นสังสารวัฏโดยความเป็นทุกข์ก็เพราะสัตว์นรกนั้นมีมากกว่าภพอื่น
ทำนองเดียวกับที่โลกนี้ปรากฏว่ามีคนโง่มากกว่าคนฉลาดนั่นเอง
เมื่อโง่เรื่องกรรมเรื่องเดียว
ย่อมเป็นผู้ส่งตนไปนรกได้ง่ายดายนัก
สภาพความเป็นอยู่ในนรกนั้น
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบไว้กับสภาพที่พวกเราพอนึกออกคือ เหมือนมีหลุมลึกยิ่งกว่าส่วนสูงของบุรุษหลุมหนึ่ง
ซึ่งเต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน
ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์
มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาสู่หลุมถ่านเพลิงนั้น
(ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) และได้ตกลงไปเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า
เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว
สรุปคือนรกคือสถานที่ที่เน้นความแผดเผา
และแปลว่าวิบากกรรมอันส่งสัตว์เข้าไปอยู่ในนรกต้องหนักหนาสาหัสเอาการ
ที่แน่นอนคือพวกทำอนันตริยกรรม ๕ ซึ่งกล่าวไว้แล้วในบทก่อน
และอีกประเภทหนึ่งคือพวกที่ทำบาปเผ็ดแสบ คือทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไว้มาก
และไม่มีบุญที่ช่วยประคองอยู่
บาปกรรมที่มีน้ำหนักมหาศาลจึงถ่วงเขาร่วงลงทะลุถึงพื้นนรกานต์จนได้
๒)
วิสัยเดรัจฉาน
เราได้เห็นเดรัจฉานกลาดเกลื่อนบนดาวเคราะห์ดวงนี้
ซึ่งก็มีสภาพความเป็นอยู่หลากหลาย บางพันธุ์ได้ใกล้ชิดมนุษย์ เช่นสุนัขและแมว
บางพันธุ์ก็อยู่ในป่าลึก เช่นช้างและเสือ
เราเห็นด้วยตาเปล่าว่าสัตว์แต่ละสายพันธุ์มีสติปัญญาแตกต่างกัน
มีอัตภาพที่น่าอึดอัดและปลอดโปร่งผิดแผกกัน
แต่ในสายพระเนตรของพระพุทธองค์ผู้หยั่งรู้และสามารถเปรียบเทียบเดรัจฉานกับภพภูมิอื่นได้ทั่วถึง
ท่านตรัสไว้ว่า เหมือนมีหลุมซึ่งลึกยิ่งกว่าส่วนสูงของบุรุษหลุมหนึ่ง
ซึ่งเต็มไปด้วยอุจจาระ ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์
มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาสู่หลุมอุจจาระนั้น
(ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) และได้ตกลงไปเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า
เผ็ดร้อนยิ่ง
สรุปคือกำเนิดเดรัจฉานนั้น โดยรวมแล้วโสโครกน่ารังเกียจ
ชวนให้อึดอัดระอา
วิบากกรรมอันส่งสัตว์เข้าไปอยู่ในเดรัจฉานภูมิไม่หนักเท่าวิบากที่ส่งให้ถึงนรก
แต่ก็ใกล้เคียง อาจจำแนกได้คร่าวๆว่าถ้าเป็นพวกโลภมาก
จะไปเกิดในสายพันธุ์ที่อัตคัดขัดสนเรื่องอาหารและน้ำ ถ้าเป็นพวกโทสะแรง
จะไปเกิดในสายพันธุ์ที่ต้องกัดกินกันเองหรือแย่งชิงอาหารกันด้วยความดุร้าย
ส่วนถ้าเป็นพวกที่ตายขณะมีโมหะครอบงำ คือหลงมาก แต่ยังมีบุญเก่าประคับประคองอุดหนุน
ก็อาจได้มาเป็นหมาแมวน่ารักที่มีคนเอ็นดูชุบเลี้ยง
๓) วิสัยเปรต
เปรตในความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่มีเพียงจำพวกที่ร่างสูงโย่ง
ปากเล็กจู๋ และมีความหิวกระหายเป็นอาจิณ ความจริงแล้วเปรตยังมีมากจำพวกกว่านั้นเยอะ
และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีสภาพน่าทุเรศทุรังสถานเดียว
บางพันธุ์มีภาพหลอกสูงส่งกว่ามนุษย์เสียอีก คือบางกาลปรากฏโดยความเป็นเทพ
แต่บางกาลก็ปรากฏละม้ายสัตว์ในนรกภูมิชั้นต้นๆ
สำหรับความลำบากลำบนของพวกเปรตนั้น
โดยรวมพระพุทธองค์ตรัสเปรียบว่า เหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่ลุ่มๆดอนๆไม่ราบเสมอกัน
มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง
ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์
มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงต้นไม้นั้น
(ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) แล้วนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาต้นไม้นั้น
เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก
สรุปคือกำเนิดแห่งเปรตนั้น
โดยรวมแล้วสภาพแวดล้อมไม่ได้เผาลน และมิได้สกปรกโสโครกเท่านรกและเดรัจฉาน
แต่ก็มีความไม่แน่นอน บางจุดบางเวลาอาจเร่าร้อนขึ้นได้
(เช่นที่พระพุทธองค์เปรียบเหมือนป่าโปร่งที่มีใบบังแดดฝนเพียงเบาบาง)
หรืออาจไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอยู่ด้วยอัตภาพของตนเอง
วิบากกรรมอันส่งสัตว์เข้าไปอยู่ในภูมิเปรตไม่หนักเท่าวิบากที่ส่งให้ถึงเดรัจฉาน
แต่ก็ใกล้เคียง คือยังอาจมีความรู้สึกถึงอัตภาพที่สูงส่งคล้ายมนุษย์อยู่
แต่ก็เสวยสุขแบบมนุษย์ไม่ได้อีกแล้ว
ตัวอย่างเช่นเปรตบางพันธุ์นั้นน่าสงสาร
เพราะความจริงมีบุญมาก แต่ก่อนขาดใจตายเกิดผิดพลาดทางใจ เหมือนพระธุดงค์บางรูป
ท่านก็อยู่ในกรอบวินัยพอสมควร แต่ประพฤติธรรมไม่ได้ถึงระดับมีคุณวิเศษ
เช่นมรรคผลและฌานสมาบัติ ขณะใกล้มรณภาพท่านหิวกระหายจัด ไม่มีอาหารและน้ำตกถึงท้อง
จิตไม่มีที่ยึดเหนี่ยวอันเป็นกุศลอื่น แต่ปักแน่วเข้าไปในความกระหายอยากอย่างรุนแรง
เลยทำให้เกิดภพแห่งการแสวงหาอาหาร
เดินท่อมๆอยู่ในราวป่าด้วยความนึกว่าท่านยังเป็นพระกำลังออกบิณฑบาตวนไปเวียนมา
อัตภาพยังมีเครื่องนุ่งห่มเป็นจีวรและบาตรเหมือนพระอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีไฟแผดเผา
ไม่ได้มีของโสโครกมาแปดเปื้อนท่าน
เพราะไม่ได้ก่ออกุศลกรรมหยาบช้าเอาไว้
๔)
วิสัยมนุษย์
มนุษย์ก็คือพวกเรานี่เอง
กำลังมีตัวเป็นๆและลมหายใจเข้าออกอยู่สดๆร้อนๆนี่แหละ เรียกว่าภพมนุษย์
วิสัยมนุษย์
ตัดเอาเพศพันธุ์
รูปร่างหน้าตา ฐานะ และสติปัญญาทิ้ง
เอาเฉพาะสภาพแวดล้อมและอัตภาพความเป็นกายที่ผิวนอกแห้งสะอาดนุ่มนิ่มสบายตัวเหมือนอย่างนี้
เมื่อเทียบกับภพอื่นล่างๆลงไป พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบว่า เหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันราบเสมอกัน
มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงาร่มครึ้ม
ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์
มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงต้นไม้นั้น
(ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) แล้วนั่งหรือนอนภายใต้เงาไม้นั้น
เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก
สรุปคือกำเนิดมนุษย์นั้น
จัดว่าเป็นสุขแล้ว เหมือนคนกำลังเหนื่อย กำลังร้อน
กำลังหิวกระหายได้มาพบที่ราบร่มรื่น มีป่าไม้ใบบัง กันแดดกันฝนได้อย่างดี
ย่อมผ่อนคลาย หายล้า และยิ้มออกพอประมาณ แม้คนที่ได้รับความทุกข์จากเพศของตน
รูปร่างหน้าตาของตน ฐานะของตน และสติปัญญาของตน
ก็ควรทราบว่าเมื่อเปรียบกับภพภูมิอื่นที่ต่ำกว่านี้แล้ว
ความเป็นมนุษย์ยังเหมือนที่พักกลางทางวิบากอันน่าชื่นชมกว่ากันมากนัก
๕)
วิสัยเทวดา
เทวดามีความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับมนุษย์
คือยังเสพสุขจากกามคุณ ๕ คือเห็นรูปอันยวนตา ได้ยินเสียงอันรื่นหู
สูดกลิ่นหอมอันเร้าใจ ลิ้มรสอร่อยชวนน้ำลายไหล
และแตะต้องเครื่องกระทบอันมีสัมผัสอ่อนนุ่มน่าพิสมัย
ใครต่อใครอยากไปสวรรค์กัน
เพราะเล่าลือว่าสำราญนัก หอมหวานยวนอารมณ์นัก งดงามบาดตาเร้าใจนัก
ซึ่งก็สมควรแก่คำเล่าลือเหล่านั้น เพราะพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสเปรียบไว้ เหมือนปราสาทแห่งหนึ่งซึ่งมีเรือนยอด
ฉาบทาแล้วทั้งภายในและภายนอก หาช่องลมมิได้ มีวงกรอบอันสนิท
มีบานประตูและหน้าต่างอันหับปิดดีในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์อันลาดด้วยโกเชาว์ขนยาว
(ผ้าทำด้วยขนแพะ) ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนเจียมเป็นแผ่นทึบ
มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นในเบื้องบนมีหมอนแดงวาง ณ
ข้างทั้งสอง ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์
มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาสู่ปราสาทนั้น
(ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) แล้วนั่ง หรือนอนบนบัลลังก์ในเรือนยอด
เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว
สรุปคือกำเนิดแห่งเทพนั้น
จัดเป็นเขตแดนอันพึงถวิลถึงสำหรับสัตว์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ
ไม่ถึงกับเกินจินตนาการมนุษย์อย่างเรา เราเสพสุขในกามคุณ ๕ กันอย่างไร
เทวดาก็เสพในทำนองเดียวกันนั้น เพียงแต่ว่ามีความประณีตกว่า มีความเย้ายวนกว่า
มีรสอันเลิศกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้
เช่นที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบภพมนุษย์เหมือนป่าไม้ใบบังหนา
ในขณะที่เปรียบภพเทวดาเหมือนปราสาทราชวังนั่นเลยทีเดียว
ขอให้ทราบว่าวิสัยเทวดานี้
พระพุทธองค์ทรงเหมารวมตั้งแต่เทพในกามาวจรชั้นแรกๆตลอดทั่วไปจนถึงพรหมทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป
เพราะฉะนั้นปราสาทราชวังที่พระองค์ตรัสเปรียบว่าน่าชื่นมื่นยิ่งสำหรับคนกำลังเหนื่อย
กำลังร้อน กำลังหิว ยังมีระดับชั้นซอยย่อยออกไปอีกมหาศาล
เอาเป็นว่าพระองค์ท่านกรุณาเปรียบเปรยให้เป็นที่เข้าใจง่าย
จินตนาการตามได้แก่พวกเราเพียงคร่าวเท่านั้น
วิธีชี้ทางสวรรค์แก่ผู้ป่วยใกล้ตาย
ตั้งแต่โบราณกาลนานมา
พุทธศาสนิกชนในไทยปรารถนาจะได้รับคำตอบประการหนึ่งอย่างยิ่งยวด
คือเมื่อตัวเองใกล้จะตาย หรือเมื่อญาติอันเป็นที่รักเจ็บหนัก
ควรจะช่วยเหลือกันอย่างไรเป็นการส่งให้ไปดี
วิธีที่นิยมกันมากคือให้คนตายท่องไว้ว่า
‘พระอรหันต์ๆๆ’
คือจะให้กอดพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสไว้แน่นหนา
ซึ่งก็นับว่าใช้ได้ถ้าผู้กำลังจะตายเข้าใจว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร
แต่ปัญหาคือคนเราถ้าทั้งชีวิตไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักพุทธธรรม จู่ๆจะให้ท่อง
‘พระอรหันต์ๆๆ’
แล้วไปดีนั้นยาก เพราะจิตไม่รู้ว่าพระอรหันต์คือใคร บรรลุธรรมอันใดมา
จึงเปรียบเหมือนเทวดายื่นเข็มทิศให้คนหลงป่าโดยปราศจากการแถมคู่มือใช้งาน
แม้คนหลงป่าคว้าเข็มทิศไว้ได้ แต่ใช้เข็มทิศไม่เป็น ไม่รู้ว่าเข็มทิศคืออะไร
ทำงานอย่างไร อย่างนี้ก็ต้องกลายเป็นผู้หลงทางต่อไปอยู่ดี
มาฟังธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔
ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า
เมื่อมีกษัตริย์องค์หนึ่งเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
และได้กราบทูลถามว่าอุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนผู้ป่วยซึ่งมีปัญญาด้วยกัน
แต่กำลังได้เสวยทุกข์จากการเป็นไข้หนัก (ใกล้ตาย) ว่าอย่างไรดี
พระพุทธองค์ตรัสให้สอนอย่างนี้คือ จงเบาใจเถิดว่าเธอมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ
มีศีลอันอยู่เหนือความทะยานอยากที่ผิดและความเห็นผิดทั้งปวงแล้ว
และเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต
อันนี้หมายความว่าถ้าใกล้ตายอยู่
มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อย่างมั่นคง
กับทั้งมีความเห็นชอบในเรื่องคุณและโทษ ในเรื่องบุญและบาป
และน้อมใจรักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์จนจิตไม่แส่ส่ายกังวลไปในบาปทั้งหลายแล้ว
ก็ย่อมเกิดความตั้งมั่น มีความเบาใจเป็นธรรมดาว่าจะจากไปสู่ความปลอดภัย
นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่าหลังจากปลอบเช่นนี้แล้ว
ให้ถามผู้ป่วย (ในกรณีที่พ่อแม่ยังมีชีวิต)
ว่ายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย
ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา
ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในมารดาและบิดา พวกท่านก็จะต้องตายไปอยู่ดี
ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในมารดาและบิดาเสียเถิด
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในมารดาและบิดาได้แล้ว
พึงถามเขาอีก (ในกรณีที่บุตรและภรรยายังมีชีวิต)
ว่ายังมีความห่วงใยในบุตรและภรรยาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย
ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา
ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในบุตรและภรรยา พวกเขาก็จะต้องตายไปอยู่ดี
ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในบุตรและภรรยาเสียเถิด
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในบุตรและภรรยาได้แล้ว
พึงถามเขาอีกว่ายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ?
(เช่นยังอยากเสพกาม ยังอยากเห็นสาวสวยหรือหนุ่มหล่อ
ยังอยากฟังเพลงโปรดจากสุดยอดเครื่องเสียง ฯลฯ) ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย
ก็ให้กล่าวว่ากามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์
ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในเทวดาชั้นต่างๆเถิด
(คือเล่าพรรณนาตามที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยัน ดังแสดงไว้แล้วในหัวข้อก่อน
ว่าความสุขระดับเทพยดานั้นเหนือกว่าความสุขแบบมนุษย์เพียงใด
ให้เขากำหนดใจเชื่อมั่นไว้ว่าการเสพกามในภพมนุษย์ยังสุขน้อยไป
กายอันเป็นทิพย์ชวนให้เสพสมยิ่งกว่านั้น
รูปเสียงบรรดามีในโลกที่น่าโปรดปรานที่สุดยังน่าพิสมัยน้อยไป
รูปเสียงอันเป็นทิพย์ยังน่าอภิรมย์ยิ่งกว่านั้นมากนัก)
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในกามคุณ
๕ อันเป็นของมนุษย์ได้แล้ว พึงกล่าวว่าความสุขแม้ที่เหนือกว่ากามคุณ ๕
ในภพเทวดายังมี คือความสุขจากการเข้าสมาธิฌานในพรหมโลก
แต่แม้จะได้เป็นถึงรูปพรหมและอรูปพรหมก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน
ยังนับเนื่องในความหลงผิดยึดมั่นถือมั่นว่าภพนั้นๆเป็นตน (หรือตนเป็นอมตะ)
ขอจงพรากจิตให้ออกจากเทวโลกและพรหมโลก
แล้วนำจิตเข้าไปในความดับจากการยึดมั่นถือมั่นเถิด
หากเขารับว่าสามารถถอนความยึดมั่นแม้ในเทวโลกและพรหมโลกแล้ว
และได้นำจิตเข้าไปในความดับจากอาการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไรๆแล้ว
เช่นนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าท่านไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันระหว่างผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้
กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี
เพราะต่างก็พ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน
ขอให้ทราบว่าช่วงจังหวะใกล้ตายนั้นเป็นโอกาสทอง
จิตกำลังหาทิศทางอันเป็นที่ไป
ไม่ค่อยอาลัยสิ่งที่เห็นว่าตนกำลังจะต้องทิ้งไว้ในโลกนี้อีกแล้ว
จึงมีความหนักแน่นเป็นพิเศษ หากเราพูดเหนี่ยวนำเขาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะได้ล่ะก็
ไม่ใช่แค่คนป่วยหนักจะเข้าถึงสุคติ
แต่อาจมีจิตปล่อยวางได้ถึงที่สุดจริงๆ!
หากช่วงท้ายๆของผู้ป่วยสามารถเข้าใจธรรมะ
สามารถยอมรับ สามารถเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือว่านิพพานเป็นของดี
เป็นบรมสุขอันถาวรแล้ว ก็อาจสำทับลงไปตามแนวทางเปรียบเทียบคติต่างๆของพระพุทธองค์
คือกล่าวตามจริงว่านรกนั้นแผดเผา เดรัจฉานนั้นเน่าเหม็น เปรตนั้นลุ่มๆดอนๆ
มนุษย์นั้นเริ่มสบาย ส่วนเทวดานั้นสุขจริง แต่ก็ไม่สุขได้ตลอด
ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นภัยแห่งความไม่เที่ยงในคติต่างๆ
และประมาณได้ว่าหากไม่หลุดพ้นไปจากวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
ก็ย่อมพลาดเข้าสักวัน สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้าคิดจะท่องเที่ยวเกิดตายไปเรื่อยๆ
การหลีกเลี่ยงนรกมิใช่วิสัยที่จะเป็นได้
พระพุทธองค์ได้ตรัสสรุปไว้ชัดว่าความสุขระดับวิมุตติ
คือหลุดพ้นจากความถือมั่นในภพทั้งปวงนั้นเป็นอย่างไร
เราสามารถนำไปพรรณนาให้ผู้ป่วยใกล้ตายได้ฟังเพื่อความเลื่อมใสหนักแน่นขึ้น
คือเปรียบแล้ว เหมือนสระโบกขรณี
มีน้ำอันสะอาดใสเย็นอยู่ตลอด กับทั้งมีท่าอันดี น่ารื่นรมย์
และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้นมีแนวป่าอันทึบ
ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์
มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงสระโบกขรณีนี้ทีเดียว
เขาลงสนานกายและดื่ม ดับความกระวนกระวาย
ระงับความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนรุ่มเสียได้
แล้วจึงขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้นเสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว
เพราะกิเลสเครื่องหมักดองทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งในปัจจุบัน
สรุปว่าวิมุตติสุขนั้น
เป็นสุขเดียวที่ดับความกระหายได้สนิท
ขอให้สังเกตการเปรียบเทียบของพระพุทธองค์ว่าวิมุตติหรือความหลุดพ้นจากกิเลสนั้น
เป็นสถานที่เดียวที่มีน้ำให้ดื่มกินดับกระหาย ดับความกระวนกระวาย
ดับความร้อนรุ่มได้สนิท
ขอเพียงผู้ป่วยหนักใกล้ตายมีความเลื่อมใสอย่างนี้
ปล่อยวางภพภูมิทั้งหลายด้วยปัญญาอันถูกต้องอย่างนี้
แม้จิตขาดกำลังเพียงพอจะเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นความว่างจากภาวะทั้งปวง
สงบจากการปรุงประกอบทุกข์ทั้งปวง อย่างน้อยที่สุดก่อนถึงวาระแห่งจุติจิต
เขาย่อมเห็นนิมิตหมายอันเป็นมงคล เช่นเห็นองค์พระปฏิมาอร่ามเรือง
หรือเห็นพระพุทธนิมิตเสมือนจริง หรือได้ยินเสียงเทศนาธรรมเพื่อความปล่อยวาง
กระทำจิตให้แน่วไปในความเป็นมหากุศล เมื่อจิตสุดท้ายดับลง
ย่อมเกิดจิตใหม่สืบต่อในสุคติภูมิอย่างแน่แท้
ไม่มีทางเลือนหลงพลัดตกลงไปสู่อบายภูมิได้เลยด้วยประการใดๆทั้งสิ้น
บทสำรวจตนเอง
๑)
เราเป็นผู้มีความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ
ว่าตนเองพรักพร้อมในการไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่?
๒)
กรรมที่ทำเป็นประจำอันใด สร้างความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ
ว่าเรากำลังจะไปสู่สุคติ?
๓)
กรรมที่ทำเป็นประจำอันใด สร้างความกังวล สับสน กลับไปกลับมา
ว่าเราอาจมีทุคติเป็นที่ไป?
๔)
เราเป็นผู้พร้อมจะละกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติ
และพร้อมจะเพิ่มกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสุคติหรือไม่?
๕)
เราพร้อมจะตายพร้อมกับความรู้สึกศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรือไม่?
สรุป
มีหลายสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็นเรื่องจริง
แต่มันก็เป็นเรื่องจริงมาชั่วกัปชั่วกัลป์
ดังเช่นหลายคืนเราไม่อยากตกอยู่ในห้วงแห่งฝันร้าย แต่เมื่อเหตุแห่งฝันร้ายมีอยู่
เราก็ต้องนอนหลับอย่างทุกข์ทรมานโดยไม่อาจขัดขืนจนกว่าจะตื่น
ชีวิตหลังความตายก็เช่นกัน แม้เราเชื่อว่ามันไม่มีด้วยความทะนงตน
หรือแม้เราภาวนาขออย่าให้มันมี
หรือแม้เราสามารถรณรงค์ให้คนทั้งโลกเชื่อว่าชาติหน้าเป็นนิทานเหลวไหล
แต่ขอเพียงมีเหตุให้มันมี อย่างไรมันก็ต้องมี
มันจะมีหรือไม่มี
ทางที่ดีไม่ประมาทไว้ก่อน ดังที่พระพุทธองค์ทรงชี้ว่าถ้าเราทำดีแล้ว
ย่อมเป็นสุขในปัจจุบัน และถ้าชาติหน้ามี ก็จะต้องไปดีด้วย
เรียกว่าสำเร็จประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยการเพียรละความชั่วและสั่งสมความดีเข้าไว้
จะเป็นประกันชั้นเลิศสุด
การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิในแต่ละครั้งอาจหมายถึงการแก้ตัวใหม่จากที่เคยผิดพลาด
หรืออาจหมายถึงการทดสอบซ้ำว่าเราดีทนแค่ไหน
ธรรมชาติจะลบความจำเราเกี่ยวกับภพเดิมๆให้สูญสิ้นไป
แต่กรรมที่ทำเป็นประจำจะทำให้เราเคยชินอยู่กับนิสัยเดิมๆ
การจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้จำเป็นต้องพบกับผู้รู้แจ้งแทงตลอดในกรรมวิบากทั้งปวงเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดังนั้นการปลูกฝังความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระศาสดาจึงเป็นกุศโลบายที่ดีในการเดินทางไกล
ใครสามารถอุ่นใจได้ว่าเราจะตายพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธองค์
ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้พกเอาเสบียงสำคัญที่สุดติดตัวไปด้วยแล้ว
ยากแล้วที่จะพลัดไปมีครูผู้สอนสั่งเรื่องกรรมวิบากผิดๆ
สำคัญคือการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธองค์นั้น
ไม่มีอะไรดีไปกว่าลงมือปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทั้งในแง่ของการฝึกเสียสละ
รู้จักให้ทานเพื่อละความตระหนี่
และทั้งในแง่ของการบำเพ็ญตนเป็นผู้ปลอดโปร่งจากบาปอกุศลทั้งปวง
รักษาศีลจนกลายเป็นที่รักยิ่งกว่าสิ่งยั่วยุใดๆ เมื่อประสบสุขทางใจเต็มอิ่มแล้ว
ก็จะบังเกิดความเลื่อมใสว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนความไม่เบียดเบียน
เป็นผู้ชี้ทางตรง ทางถูก ทางไปสู่สวรรค์นิพพานได้จริง เมื่อนั้นศรัทธาจะไม่คลอนแคลน
และเราจะเป็นผู้มีคติที่ไปอันประเสริฐเสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น