Translate

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

ประวัติของไดโนเสาร์


             ประวัติของไดโนเสาร์  เมื่อหลายล้านปีก่อนโลกได้กำเนิดสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ขึ้นมาบนโลก มีหลายเผ่าหลายพันธุ์สาย ทั้งประเภทกินเนื้อและกินพืชเป็นอาหาร ต่างฝ่ายก็ต้องดิ้นรนเพื่อออกล่าอาหารอาจจะเป็นในตระกูลเดียวกันหรือต่างสายพันธุ์ ซึ่งต่างก็ได้รับสมญานามว่าเป็นนักล่า โดยเฉาะ ทีแร็กซ์ และแร็พเตอร์ นับว่าเป็นนักล่าในยุคจูลลาสสิค และฝ่ายหาอาหารจากพืชก็จะมีสิ่งป้องกันบางอย่างเพื่อเป็นเกราะคุ้มครองของตนเอง เช่นหนามที่แหลมคม พวกนี้จะไม่ทำอันตรายพวกอื่นก่อนถ้าไม่ถูกรบกวนหรือถูกรุกรานก่อน แต่แล้วสายพันธุ์ของไดโนเสาร์ก็ต้องสิ้นสุดลงเพราะต้องเผชิญกับหายนะอันใหญ่หลวงของโลกจากกลุ่มหินอุกกาบาตที่เข้าถล่มโลกอย่างบ้าคลั่ง ทำให้สิ่งมีชีวิตต้องจบสิ้นลงไปด้วยเพราะไม่อาจทนความร้อนได้ ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเขม่าและควันไฟที่โพยพุ่ง โลกเต็มไปด้วยความมืดมิดไม่มีแสงสว่าง และเป็นเช่นนั้นอยู่หลายปีและโลกเริ่มเย็นขึ้นๆเรื่อยๆ และต่อมาก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ เริ่มเข้ายุคใหม่ที่เริ่มก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตยุดใหม่เข้ามาแทนที่สัตว์ใหญ่ที่เคยครองโลกอยู่.....คงเหลือแต่ซากเถ้ากระดูกและฟอสซิลให้เห็นมาจนตราบทุกวันนี้...T^Tซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิล (fossil) คือซากหรือร่อง รอยของพืชหรือสัตว์ที่ถูกเก็บรักษาไว้โดยธรรมชาติในชั้นหินในเปลือกโลก ประโยชน์ของฟอสซิล ฟอสซิลสามารถบอกให้เราทราบถึงชนิดรูปแบบและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในช่วงระยะเวลาทาง ธรณีวิทยารวมทั้งบ่งบอก สภาพแวดล้อมของ โลกในอดีตกาลอีกด้วยเนื่องจากในแต่ละช่วงระยะ เวลาทางธรณีวิทยาจะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น เฉพาะบางชนิดเท่านั้น จากการคำนวณหาอายุของหินทั้งในโลกและจากดาวต่างๆในระบบสุริยจักรวาลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากดวงจันทร์ โดยการศึกษาไอโซโทป(isotope)ของธาตุกัมมันตรังสีต่างๆ(radioactive elements) ที่เป็นส่วนประกอบของหิน รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบชั้นหินโดยใช้ซากดึกดำบรรพ์ ทำให้ทราบอายุของโลกโดยประมาณ 4,600,000,000 ปี(4.6 billion years) OoO  และแบ่งช่วง ระยะเวลาทางธรณีดังกล่าวออกเป็น บรมยุค(eon) มหายุค(eraยุค (period)และ สมัย (epoch) ไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินและสูญพันธุ์หมดสิ้นจากโลกนี้ เมื่อหลายสิบล้านปีมาแล้ว ในปัจจุบันพบเพียงซากกระดูกส่วนต่าง ๆ ซึ่งเราเรียกว่าฟอสซิลของไดโนเสาร์คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์ที่ใหญ่โต มโหฬารหรือเป็นสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์เช่นเดียวกับปลาวาฬ บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลก แต่โดยความเป็นจริง ไดโนเสาร์มี ขนาดและรูปร่างแตกต่างกันมากมาย ตั้งแต่ขนาดใหญ่มหึมา น้ำหนักกว่า 100 ตัน สูงมากกว่า 100 ฟุต จนถึงพวกที่ขนาดเล็ก ๆ บางชนิดก็มีขนาดเล็กกว่าไก่ บางพวกเดินสี่ขา บางพวกก็เดินและวิ่งบนขาหลัง 2 ข้าง บางพวกกินแต่พืชเป็นอาหาร ในขณะที่อีกพวกหนึ่งกินเนื้อเช่นเดียวกับสัตว์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน..........  ไดโนเสาร์พวกแรก      ปรากฎขึ้นมาในโลกในช่วงตอนปลายของ  ยุคไทรแอสสิกเมื่อกว่า225ล้านปีมาแล้วเป็นเวลาที่ทวีปทั้งหลาย ยังต่อเป็นผืนเดียวกัน สัตว์เลื้อยคลานพวกนี้มีชีวิตอยู่และมีวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 160 ล้านปี กระจัด กระจายแพร่หลายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินในโลก แล้วจึงได้สูญพันธุ์ไปหมดในปลายยุคครีเทชียสรือเมื่อ 65 ล้านปีที่ล่วงมาแล้ว ในขณะที่ต้นตระกูลของมนุษย์เพิ่งจะปรากฎในโลกเมื่อ 5 ล้านปีที่ผ่านมา หลังจาก ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 60 ล้านปี ละเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ปัจจุบันนั้นเพิ่งเริ่มต้นมาเมื่อไม่เกินหนึ่งแสนปีมานี่เองมนุษย์มักจะคิดว่าไดโนเสาร์นั้นโง่และธรรมชาติสร้างมาไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จึงทำให้มันต้องสูญพันธุ์ไปทั้งหมด ความคิดนี้ไม่ถูก โดยแท้จริงแล้วไดโนเสาร์ได้เจริญแพร่หลายเป็น เวลายาวนานกว่า 30 เท่า ที่มนุษย์ได้อาศัยอยู่ในโลก ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานนี้ไดโนเสาร์ได้มีวิวัฒนา การออกไปเป็นวงศ์สกุลต่าง ๆ กันมากมาย เท่าที่ค้นพบและจำแนกแล้วประมาณ 340 ชนิด และคาดว่า ยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่กำลังรอคอยการค้นพบอยู่ในที่ต่าง ๆ กันทั่วโลก ทุกวันนี้ ทั่วโลกมีคณะสำรวจ ไดโนเสาร์อยู่ประมาณ 100 คณะทำให้มีการค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ประมาณว่ามี การค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่เพิ่มขี้น 1 ชนิดในทุกสัปดาห์ *O*นักโบราณชีววิทยา แบ่งไดโนเสาร์ออกเป็น 2 กลุ่ม ใหญ่ โดยอาศัยความแตกต่างของกระดูกเชิงกราน คือ 1. พวกซอริสเซียน (Saurischians) มีกระดูกเชิง กรานเป็นแบบสัตว์เลื้อยคลาน คือ กระดูก พิวบิส และอิสเชียมแยกออกจากกันเป็นมุมกว้าง 2. พวกออรืนิธิสเชียน (Ornithiscians) มีกระดูก เชิงกรานเป็นแบบนก คือ กระดูกทั้งสอง (พิวบิสและอิสเชียม) ชี้ไปทางด้านหลัง ฟันของไดโนเสาร์ซอโรพอด พบจากแหล่งขุดค้นวัดสักกะวัน จ.กาฬสินธุ์ ฟันกรามล่างของไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์.....ขอบคุณ ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณีวิทยาและ DINOSAUR

ชนิดเมฆ (Cloud Type)


ชนิดเมฆ (Cloud Type)

ชนิดของเมฆ เป็นสัญญาณที่สำคัญของกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศ เมฆชี้ให้เห็นถึงอากาศชื้นที่กำลังเคลื่อนตัวสูงขึ้น และอาจจะมีหยาดน้ำฟ้าเกิดขึ้นได้ เมฆมักให้สัญญาณว่าสภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เมฆที่มีฐานเมฆสีเทา-ดำ มักจะทำให้เกิดฝนตก
การเรียกชื่อเมฆ
การเรียกชื่อเมฆจะเรียกตามระดับความสูงและลักษณะรูปร่างของก้อนเมฆ ซึ่งเมฆสามารถแบ่งตามระดับความสูง (Altitude) ของฐานเมฆ (Cloud Base) ได้ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. เมฆระดับสูง เรียกว่า เซอร์โร (Cirro) หรือเซอร์รัส (Cirrus) ในบริเวณแถบโซนร้อนจะอยู่ที่ความสูง 6,000 - 18,000 เมตร (20,000 - 60,000 ฟุต) ขึ้นไป จึงทำให้เห็นเมฆชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าเมฆชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีสีขาวหรือเทาอ่อน และเกิดขึ้นในบรรยากาศที่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เป็นเมฆซึ่งไม่ทำให้เกิดฝน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเกล็ดน้ำแข็ง
2. เมฆระดับกลาง เรียกว่า อัลโต (Alto) ในบริเวณแถบโซนร้อนจะอยู่ที่ความสูงระหว่าง 2,000 - 8,000 เมตร (6,500 -26,000 ฟุต) มีส่วนประกอบหลักคือ หยดน้ำ และมีน้ำแข็งบางส่วน แสงอาทิตย์ส่องผ่านเมฆชนิดนี้ได้
3. เมฆระดับต่ำ เรียกว่า สตราโต (Strato) อยู่ใกล้ผิวโลกมากที่สุด ในบริเวณแถบโซนร้อนจะอยู่ที่ความสูงไม่เกิน 2,000 เมตร (ผิวพื้น - 6,500 ฟุต) จะสามารถมองเห็นว่ามีขนาดใหญ่กว่าเมฆชนิดอื่นๆ เมฆในกลุ่มนี้อาจจะมีสีดำและเป็นสีเทามากกว่าเมฆในระดับกลางและระดับสูง
เมฆแบ่งตามลักษณะรูปร่าง
เมฆแบ่งตามลักษณะรูปร่างได้ 2 แบบ คือ
1. เมฆก้อน เรียกว่า คิวมูโล (Cumulo) หรือคิวมูลัส (Cumulus) มีลักษณะเป็นก้อนรวมตัวกันคล้ายปุยฝ้ายหรือดอกกะหล่ำ
2. เมฆแผ่น เรียกว่า สตราโต (Strato) หรือสตราตัส (Stratus) มีลักษณะเป็นแผ่นแบนแผ่คล้ายแผ่นสำลี
นอกจากนี้ เรายังเรียกเมฆที่มีฐานเมฆสีเทา-ดำ ทำให้เกิดฝนตกว่า นิมโบ (Nimbo) หรือ นิมบัส (Nimbus)
cloud
ตารางแสดงลักษณะเมฆก้อน เมฆแผ่น และเมฆฝน
ดังนั้น เมฆสามารถแบ่งออกได้เป็น 10 ชนิด ตามระดับความสูงและรูปร่างของเมฆ ดังนี้
cloud-chart1

ขอบคุณ ข่าวจาก สสวท. (IPST News)


วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ

สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ


ถึงบทก่อนเราทราบพอเป็นเค้าเป็นเลาว่า ตายแล้วไม่จบ แต่ยังไม่ทราบว่า ตายแล้วไปไหน สำหรับบทนี้จะพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ในภพภูมิต่างๆที่ผู้ ตายจริง ได้ไปอยู่กัน
คนที่เห็นการท่องเที่ยวเกิดตายของสัตว์ในสังสารวัฏต่างเกิดมุมมองเดียวกันขึ้นมาอย่างหนึ่ง นั่นคือสัตว์ทั้งหลายไม่เคยตาย มีแต่เคย เปลี่ยนสภาพ หรือ เคลื่อนจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่ง เท่านั้น
แต่สำหรับคนไม่รู้ ไม่มีญาณหยั่งเห็น ต้องถือว่าไม่มีความผิดที่ปักใจเชื่อได้แค่ตามที่ประสาทตาเนื้อเอื้อให้เห็น เมื่อใดที่ใครเป็นศพ ก็เหมือนเป็นการโบกมือลาชั่วนิรันดร์ จะไม่ได้พบกันอีก จะไม่ได้คุยกันอีก จะไม่ได้ทำอะไรๆร่วมกันอีก
เราเลือกได้ที่จะไม่เชื่อ แต่เราไม่มีสิทธิ์เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงความจริง เหมือนเช่นเมื่อเรายังไม่รู้เรื่องการประหารชีวิตที่น่าขนพองสยองเกล้า เราก็ไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่ามีอะไรหฤโหดอย่างนี้อยู่บนโลก แต่ถ้ามันมีมันก็มี นี่เป็นทำนองเดียวกับที่เรายังไม่รู้สภาพความเป็นไปในนรก เราอาจไม่อยากเชื่อว่ามันมี แต่ถ้ามันมีมันก็มีเช่นกัน ที่สำคัญคือถ้ามันมีจริงก็แปลว่าความหฤโหดทุกชนิดบนโลกมนุษย์เป็นอันถูกลืมได้ เพราะจะไม่มีความทุกข์ใดเทียบเท่าความทุกข์ทรมานในนรกเลยเป็นอันขาด!
เมื่อดำรงอยู่ในความเป็นมนุษย์ด้วยกันนี้ ทุกคนรู้ว่าระหว่างพวกเรามีความต่าง แต่จะรู้ดีที่สุดว่าความต่างนั้นมีความหมายอย่างไรก็เมื่อเห็นภพภูมิอันเป็นที่ไปของแต่ละคนนั่นเอง

ภพภูมิ

ภพ คือโลกอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ จะเรียกว่าภพ จะเรียกว่าสภาพ หรือจะเรียกว่าภาวะชีวิตก็ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะเน้นสภาพแวดล้อม หรือภาวะของอัตภาพที่สัตว์ครองอยู่เป็นสำคัญ เช่นภพของมนุษย์ย่อมมีแผ่นดิน มีภูเขา มีทะเล มีแม่น้ำ โดยที่ตัวมนุษย์เองมีหนึ่งหัว หนึ่งตัว สองแขน สองขา ยกตั้งขึ้นด้วยกระดูกสันหลังอันแสดงสภาพสัตว์ชั้นสูง
โดยคร่าวสุดมีภพอยู่ ๓ ระดับ รวมเรียกว่า ไตรภพ ได้แก่
๑) กามภพ ภพของผู้ที่ยังเสวยกามคุณ หมายถึงสภาพต่ำสุดตั้งแต่สัตว์นรก ไล่มาถึงสัตว์เดรัจฉาน เปรต มนุษย์ เรื่อยไปจนกระทั่งสูงสุดคือเทวดาผู้ยังพัวพันกับความใคร่ในรูปเสียงกลิ่นรส
๒) รูปภพ ภพของผู้ที่เข้าถึงรูปฌาน หมายถึงสภาพของผู้พ้นจากภพอันเกลือกกลั้วด้วยกาม เพราะมีสมาธิจิตตั้งมั่นถึงระดับฌาน พวกนี้จะมีรูปกายทิพย์ที่สุขุมยิ่ง สุขุมและประณีตขนาดที่ว่าผัสสะภายนอกทั้งปวงปรากฏแผ่วจนไม่อาจทำให้รู้สึกรู้สาว่าน่าติดใจแต่อย่างใดได้ พวกเขาพึงใจมีชีวิตเพื่อเสพสุขอันเป็นภายในจากสภาพฌานจิตอันยิ่งใหญ่ล้ำลึกเกินจินตนาการ
๓) อรูปภพ ภพของผู้ที่เข้าถึงอรูปฌาน หมายถึงสภาพของผู้พ้นจากความมีรูป เพราะสมาธิจิตก้าวล่วงการสำคัญในรูปทั้งปวงเสียได้ พวกนี้มีรู้สึกในอีกระนาบหนึ่งซึ่งเหนือกว่าสุขอันเป็นทิพย์

(หมายเหตุ – คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าไตรภพคือโลกนรก โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์ ความจริงแล้วทั้งสามนี้เป็นเพียงกามภพเท่านั้น)

ส่วนภูมิ นั้นจะเป็นส่วนย่อยของภพอีกที เพราะเน้นที่ระดับชั้นแห่งจิตมากกว่าจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่ร่างกายอันเป็นของภายนอกที่สัมผัสได้ง่ายกว่ากัน
ภูมิแห่งจิตวิญญาณมี ๔ ระดับ ได้แก่
๑) กามาวจรภูมิ เป็นภูมิจิตที่ยังข้องแวะอยู่กับกามคุณ ๕ คือเสพผัสสะอันน่าพึงใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด
๒) รูปาวจรภูมิ เป็นภูมิจิตที่ยึดเอารูปธรรมเช่นลมหายใจหรือสีสันเป็นตัวตรึงจิตให้ตั้งมั่นถึงฌาน
๓) อรูปาวจรภูมิ เป็นภูมิจิตที่กำหนดเอานามธรรมเช่นอากาศอนันต์เป็นตัวตรึงจิตให้ตั้งมั่นถึงฌาน
๔) โลกุตตรภูมิ เป็นภูมิจิตที่เคยเห็นแจ้งว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตน และความเห็นนั้นจะต้องเหนี่ยวนำจิตได้ถึงฌาน ประจักษ์แจ้งว่านิพพานมีจริง พ้นสภาพการมีการเป็นทั้งปวงออกไป

คงเห็นว่า ภูมิ นั้นจำแนกออกมาได้มากกว่าภพ ทั้งนี้ก็เพราะหลายภพสามารถเป็นที่อยู่ของภูมิจิตระดับโลกุตตระได้นั่นเอง สังสารวัฏมิได้มีที่อยู่เฉพาะสำหรับอริยบุคคลแต่อย่างใด เว้นแต่อบายภูมิแล้ว อริยเจ้าปรากฏอยู่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าในโลกมนุษย์นี้ ในโลกสวรรค์ ในโลกพรหม
และที่คนไทยมักเรียกรวมว่า ภพภูมิ ควบคู่กันนั้น ขอให้ทราบว่าเป็น ภาพรวม ของช่องชั้นที่อยู่ ทั้งลักษณะกายและระดับจิตในระหว่างเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง โดยมากจะนึกเหมาไปรวมๆได้เพียงโลกมนุษย์ในฐานะระดับที่ตนเป็นอยู่ เห็นว่าชาติปัจจุบันเป็นอย่างนี้ ชาติหน้าก็คงจะราวๆเดียวกันนั่นเอง
เพื่อให้เข้าใจความหลากหลายระหว่างภพภูมิต่างๆได้ดีขึ้น ลองมาดูก่อนว่าแค่ โลกมนุษย์อันเป็นภพๆหนึ่งนั้น เรามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังเหมาว่าดาวเคราะห์กลมๆใบนี้คือ โลกของมนุษย์ อยู่ล่ะก็ ควรปรับความเข้าใจเสียใหม่ คือความจริงมันเป็นที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งรวม เป็นศูนย์กลางของสัตว์ในภพภูมิอื่นอีกมากนัก กล่าวคือดาวเคราะห์กลมๆใบนี้เป็นโลกของเดรัจฉาน เป็นโลกของผีเปรต และเป็นโลกของเทวดาชั้นต้นๆ อีกมากมายเหลือคณานับ สัตว์บางภพภูมิเช่นเดรัจฉานเราก็มองเห็นด้วยตาเปล่าและสามารถสัมผัสแตะต้องได้ด้วยมือไม้ ทว่าสัตว์บางภพภูมิเช่นเปรตนั้น เราอาจบังเอิญสัมผัสได้ด้วยใจแล้วขนลุก หรือสัตว์บางภพภูมิเช่นเทวดา เราก็ได้แต่รู้สึกถึงความอบอุ่นสว่างเบาจากกระแสวิญญาณพวกท่าน
ดังนั้นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งๆจึงไม่จำเป็นต้องเป็นภพของสัตว์หมู่ใดเสมอไป แต่อาจเป็นแหล่งรวม เป็นสภาพแวดล้อมให้กับเหล่าสัตว์ในชั้นภูมิต่างๆได้หลากหลาย
เมื่อความจริงเป็นดังนี้ ฉะนั้นแม้แต่ปุถุชนธรรมดาผู้ปราศจากญาณหยั่งรู้ใดๆก็อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภพภูมิอื่นได้ อย่างเช่นสัตวแพทย์หรือคนรักสัตว์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความผูกพันกับสัตว์มากๆ หากเข้าใจอย่างถูกต้องก็จะเริ่มตอบคำถามขั้นพื้นฐานได้ เช่น
๑) การสื่อสารข้ามภพภูมิเป็นจริงหรือไม่? ต้องตอบว่าเป็นไปได้จริง อย่างเช่นผู้ที่ฝึกสัตว์สามารถสั่งสัตว์ให้ทำสารพัดสิ่ง แม้แต่ลิงชิมแปนซีก็แสดงให้เห็นว่าเข้าใจภาษามนุษย์เป็นคำๆ สามารถเลือกอักษรมาผสมเป็นคำเพื่อสื่อสารง่ายๆกับผู้ฝึกได้ และผู้ฝึกสัตว์หลายคนก็อ้างว่าตนสามารถคุยกับสัตว์รู้เรื่องเป็นอย่างดี เพียงเห็นภาษากายหรือวิธีส่งเสียงของพวกมัน
๒) การรับรู้ของสัตว์ในแต่ละภพภูมิแตกต่างกันมากหรือน้อย? ต้องตอบว่ามากอย่างเกินกว่าที่เราจะจินตนาการถูก อย่างเช่นสุนัขจะได้ยินเสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่าแก้วหูมนุษย์จะสามารถรับรู้ และนอกจากจะมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คนเราจะไม่ทราบเลยว่ามดมีสองตาก็จริง ทว่าตาแต่ละข้างประกอบด้วยตาย่อยๆอีก การเห็นผ่านประสาทตาของพวกมันจึงเกินกว่าที่เราจะนึกให้ออกว่าเป็นอย่างไร
๓) หมู่สัตว์อื่นก่อกรรมดีชั่วได้หรือไม่? ต้องตอบว่าบางจำพวกก็ก่อกรรมได้ เช่นสุนัขบางตัวที่ถูกฝึกแล้วเป็นอย่างดีสามารถช่วยชีวิตคนได้ แมวบางตัวได้ชื่อว่าเป็นแมวอันธพาลเพราะไล่กัดแมวอื่นแบบนักเลงโต พฤติกรรมเหล่านี้มิได้อาศัยสัญชาตญาณ แต่ต้องมีแรงขับดันจากเจตนาซึ่งเป็นอาการทางจิต และปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลหรืออกุศลได้มาก แต่สัตว์บางจำพวกก็ก่อกรรมไม่ได้ เช่นมดที่เอาแต่ขนของท่าเดียว ไม่มีปัจจัยให้คิดทำดีหรือทำชั่วแหวกแนวไปจากพวกเท่าใดนัก ถ้าไม่ใช่มดประเภทที่มีพิษและคิดทำร้ายสัตว์อื่น ก็พออนุโลมกล่าวว่ามีสัตว์บางจำพวกเกิดมาเพื่อรับกรรมมากกว่าที่จะก่อกรรม ซึ่งก็คล้ายกับสัตว์นรก แต่สบายกว่าสัตว์นรกหลายเท่า

เมื่อสดับตรับฟังเกี่ยวกับเรื่องของภพภูมิ เราอาจจินตนาการเปรียบเทียบได้ว่าสังสารวัฏนั้นเสมือนคุก แต่ละภพแต่ละภูมิคือกรงขัง ซึ่งก็มีทั้งกรงขังสำหรับพวกมีโทษมาก และกรงขังสำหรับพวกมีโทษน้อย จะต่างจากกรงขังในโลกก็ตรงที่เมื่อใครเข้าสู่ภพภูมิไหนแล้ว จะไม่มีการรื้อคดีเพื่อพิจารณาย้อนหลังกันใหม่อีกเลย ใครเข้าไปรับกรรมในภพภูมิใด ก็จะต้องติดอยู่ในภพภูมินั้นๆไปจนกว่าจะถึงกำหนดพ้นโทษตามเหตุที่ก่อมา
การแหกคุกในสังสารวัฏพอมีให้เห็นได้ เช่นการฆ่าตัวตายหนีจากสภาพความเป็นมนุษย์ไป แต่ว่านั่นเปรียบเหมือนการเพิ่มโทษให้ตัวเองโดยพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ลำบากกว่าเดิม และคุกก็ไม่จำเป็นต้องมีผู้คุมไว้คอยไล่ล่าลากคอนักโทษกลับมาให้เหนื่อยแรง เนื่องจากพ้นเขตกักขังเดิมออกไป ก็เป็นแดนเชื่อมต่อกับเขตกักขังใหม่ทันทีอยู่แล้ว ราวกับสังสารวัฏเป็นทัณฑสถานที่ไร้ทางออกอย่างสิ้นเชิงฉะนั้น
เราทุกคนต่างเป็นนักโทษประหาร โดยมีความผิดสถานเดียวคือ ไม่รู้ทางออก และ มัวแต่ติดใจเครื่องล่อในคุก กันอยู่นี่เอง คุกแห่งนี้ประหารด้วยการเอาเข้าเครื่องลบความจำแล้วเปลี่ยนแดนกักขังเสียใหม่ ใช้กลอุบายพิสดารล่อใจให้หลงวนติดใจอยู่กับการโดนประหารไปเรื่อยๆ
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่น่าสนใจ คือเรามีสิทธิ์รู้เรื่องภพภูมิได้มากกว่าที่คิด เพราะภายในร่างกายและจิตใจของมนุษย์เพียงหนึ่งเดียวนี้ เป็นศูนย์รวมของภูมิจิตได้ครบถ้วนทุกภูมิ นับแต่ต่ำสุดไปจนถึงสูงสุด!
กล่าวเช่นนี้เพราะเหตุใด? เพราะถ้าตัดเอารูปร่างหน้าตา เนื้อหนังมังสา หูตาจมูกปากออกไป เหลือไว้แค่เพียงสภาพของจิตที่เวียนเกิดเวียนดับอยู่อย่างเดียว เราก็จะเห็นจิตชนิดต่างๆภายในขอบเขตดังต่อไปนี้เท่านั้น

๑) จิตอันเป็นไปในกามาวจรภูมิ คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นกามคุณ ๕ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้ามอันยวนตายวนใจ ถ้าได้เสพสิ่งที่ระคายสัมผัส เช่นตากแดดร้อนกระหายน้ำอยู่กลางทะเลทราย หรือถ้าไม่ได้เสพสิ่งที่ปรารถนา เช่นอยากนอนกับใครแล้วเจอข้อจำกัดให้ต้องเร่าร้อนทรมานใจ อย่างนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นนรกชื่อ ผัสสายตนิกะ จะเรียกผัสสายตนิกนรกก็ได้
ส่วนถ้าใครได้เสพสิ่งที่น่าบันเทิงเริงรมย์ เช่นนั่งนอนบนฟูกนุ่มในห้องปรับอากาศเย็นสบายดูหนังฟังเพลงตามต้องการ หรือได้เสพสิ่งที่ปรารถนา เช่นได้สามีหรือภรรยาถูกใจ ชวนอภิรมย์ชมชื่นทุกวันคืนไม่ติดขัด อย่างนั้นพระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่าเป็นสวรรค์ชื่อ ผัสสายตนิกะ เช่นกัน จะเรียกผัสสายตนิกสวรรค์ก็ได้
พูดง่ายๆว่าคนเราเวียนว่ายตายเกิดระหว่างนรกและสวรรค์ที่ชื่อผัสสายตนิกะกันตั้งแต่เด็กจนแก่ อย่างไรก็ตาม เรายังคงมีจิตเป็นมนุษย์ แม้ขณะที่ตกภวังค์ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ก็เป็นสภาพภวังค์อันสืบต่อรักษาภพแห่งความเป็นมนุษย์ไว้อยู่ดี ถ้าใครเปรียบเทียบว่าคนชั่วเหมือนสัตว์นรก เดรัจฉาน หรือเปรต และเปรียบเทียบว่าคนดีเหมือนเทวดา พรหม ขอให้ทราบว่านั่นเป็นเพียงการอุปมาอุปไมยที่ขาดความจริงทางจิตรองรับ เพราะตลอดชีวิตเรานับแต่ปฏิสนธิจนจุตินั้น เป็นได้อย่างเดียวคือมนุษย์
มนุษย์เป็นสัตว์รักสนุก ชอบกอบโกยความสุขเข้าหาตัว ดังนั้นความสุขจึงเป็นแรงผลักดันให้ก่อกรรมอันจะได้มาซึ่งวัตถุบำเรอสุข ซึ่งบางครั้งก็เป็นกุศลกรรม แต่โดยมากจะด้วยวิถีแห่งอกุศลกรรม เมื่อมนุษย์ก่อกรรมอันใดไว้มาก กรรมนั้นย่อมพาเขาไปสู่ภพอันสมควร ถ้าน้ำหนักกรรมเอียงไปทางดีก็ล่องลิ่วขึ้นสวรรค์ไป ถ้าน้ำหนักกรรมเอียงไปทางชั่วก็พุ่งหลาวลงนรกกัน และคราวนี้จะไม่ใช่ผัสสายตนิกสวรรค์หรือผัสสายตนิกนรก แต่เป็นสวรรค์มีชื่อเป็นต่างๆ นรกมีชื่อเป็นต่างๆ อันเป็นภพใหม่ที่ให้ผัสสะเย็นหรือผัสสะร้อนเป็นทวีคูณตั้งแต่อุบัติขึ้นในภพนั้นจวบจนถึงเวลาจุติไป

๒) จิตอันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้กำหนดหมาย โดยเครื่องกำหนดหมายนั้นไม่เป็นโทษ ไม่ก่อให้เกิดความครุ่นคิดฟุ้งซ่าน อย่างเช่นลมหายใจอันเป็นสมบัติติดตัวพวกเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด เพียงเฝ้าดูเล่นๆว่ามันเข้า มันออก เดี๋ยวมันยาว เดี๋ยวมันสั้น ซ้ำไปซ้ำมาไม่นานก็จะเปลี่ยนภาวะคิดสุ่มไร้ระเบียบ กลายเป็นคิดถึงแต่เรื่องลมหายใจอย่างเดียว และพบด้วยตนเองว่าการคิดถึงแต่ลมหายใจ ระงับความพะวงหลงแส่ส่ายไปในเรื่องไร้สาระต่างๆนั้น ให้ผลเป็นความปลอดโปร่งเยือกเย็น มีปีติสุขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งถึงจุดหนึ่งเมื่อคิดฟุ้งน้อยลงๆจนหยุดคิดถึงเรื่องอื่นใดอย่างสิ้นเชิง เหลือไว้แต่การรับรู้ในลมหายใจว่าผ่านเข้าผ่านออก ผ่านเข้าผ่านออกอยู่เช่นนั้น จิตก็แปรสภาพเป็นภาวะสงบประณีต เหมือนดวงไฟใหญ่ที่ค้างนิ่งอยู่กับการรับรู้สิ่งเดียว ราวกับไม่มีการเคลื่อนของเวลา มีแต่การไหลเข้าไหลออกของสายลมหายใจยืดยาว ตรงนั้นคือสมาธิระดับฌานขั้นแรก เรียกว่า ปฐมฌาน
ผู้ที่ถึงปฐมฌานได้ชื่อว่ารู้จักสภาพของจิตอันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ เริ่มฉลาดในธรรม คือเห็นจิตที่แน่วนิ่งตั้งมั่นนั้นดีกว่าจิตที่สั่นไหวโยกโคลง แต่ผู้นั้นจะได้ชื่อว่าอยู่ในรูปาวจรภูมิเต็มขั้นก็ต่อเมื่อสามารถเข้าออกฌานได้ตามปรารถนา มีจิตใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นปกติ คือนึกถึงลมหายใจเพียงไม่นาน หรือเพียงแวบเดียว จิตก็เปลี่ยนจากสภาพนึกคิดธรรมดาเป็นสภาพยุติความคิด สว่างโพลงเด่นดวงยิ่งใหญ่ ยับยั้งอยู่ในความรับรู้ลมหายใจอย่างเดียวโดยไม่มีหลงซวนเซ ไม่เป๋ไปทางไหน
การเป็นผู้ชำนาญเข้าออกรูปฌานได้นั้น แม้ยังเกลือกกลั้วอยู่กับโลกหยาบ วิถีชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อย่างน้อยที่สุดจะไม่ไยดีในสภาพแวดล้อมอันเอื้อให้พบกับกามคุณ ๕ อันเผ็ดร้อน เพราะกามคุณจะเป็นตัวบั่นทอนความสะอาดของจิต และสั่นคลอนความแน่วนิ่งตั้งมั่นได้มาก ผู้ทรงฌานจะหวงก็เพียงสภาวจิตที่ตั้งมั่นได้ตามปรารถนา เพราะสุขอันลึกล้ำโอฬารนั้นคุ้มพอจะแลกกับกามอันเป็นของน้อย
ฉะนั้นจึงเป็นปกติหากผู้ทรงฌานจะทิ้งบ้านทิ้งเรือน ทิ้งความเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานทั้งปวง ออกถือเพศบรรพชิต อาจถือวินัยแบบสงฆ์ หรืออาจประพฤติธรรมแบบฤาษีชีไพร จะมีบ้างเพียงส่วนน้อยที่ยังสามารถประพฤติธรรมได้ทั้งที่ยังเข้าสังคม ทำหน้าที่การงานอยู่เป็นปกติ
จิตที่พรากจากกามเพราะสามารถเข้าถึงภาวะแห่งฌานได้เป็นปกตินั้นยากจะหลงสติ ก่อนตายจะอยู่กับรูปฌานที่ตนชินชำนาญ และแล้วเมื่อถึงวาระสุดท้าย จิตจะวูบดับจากความรู้สึกทั้งมวล คือคลายออกจากรูปฌานเป็นจุติจิต แล้วเกิดปฏิสนธิจิตขึ้นใหม่ ถัดจากนั้นจึงกลับเข้าสู่ความรู้สึกตัวว่าอยู่ในฌาน ภายใต้การห่อหุ้มของรูปอัตภาพใหม่ที่ละเอียดสุขุมกว่าเทวดาและมนุษย์ ได้ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นหนึ่งในหมู่สัตว์ที่เรียก รูปพรหม

๓) จิตอันเป็นไปในอรูปาวจรภูมิ คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นอรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งให้กำหนดหมาย โดยเครื่องกำหนดหมายนั้นไม่ก่อให้เกิดการสำคัญไปในรูปธรรมทั้งปวง อย่างเช่นภาวะอากาศไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีกรอบจำกัดทางสายตาว่ากว้างประมาณเท่านั้น หรือยาวประมาณเท่านี้ มีแต่หน่วงนึกด้วยใจ สำคัญด้วยใจถึงสภาวะแห่งอากาศธาตุอันเวิ้งว้างว่างเปล่าปราศจากขอบเขต
การจะหน่วงนึกอย่างนี้ได้จิตต้องมีกำลัง มีความตั้งมั่นเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน ส่วนใหญ่ผู้ที่ทำได้จะผ่านรูปฌานมาก่อนแล้ว มีความเป็นกลางทางจิตชนิดที่เรียกว่า มหาอุเบกขา เป็นพื้นยืนอยู่เป็นทุน เมื่อหน่วงนึกถึงอากาศอนันต์ได้จนจิตรวมลงเป็นฌาน เขาจะรู้สึกราวกับเห็นอากาศว่างไพศาลเท่าจักรวาล เป็นสภาพเหนือจินตนาการ คล้ายยกจิตขึ้นไปอยู่ในอีกระนาบมิติหนึ่งที่มีจริงด้วยอำนาจฌาน
ผู้ที่สามารถเข้าถึงอรูปฌานได้เป็นปกติจะมีจิตที่ปราศจากเยื่อใยในความมีรูปทั้งปวง เห็นรูปทั้งปวงเป็นของเล็กน้อย ไม่น่าแยแส จิตคำนึงถึงแต่นามธรรมอันโอฬารอยู่เนืองๆ และเมื่อตายลงเพราะกายหยุดทำงาน เขาก็จะพรากจากสภาพความมีรูปทั้งปวงไปสู่ความไม่มีรูป มีแต่จิตอันทรงฌานตื่นรู้อยู่อย่างยาวนานเกินจะนับว่ากี่หมื่น กี่แสน กี่ล้านปี
การเป็นผู้ชำนาญเข้าออกอรูปฌานได้เป็นปกตินั้น ยากที่จะเกลือกกลั้วอยู่กับโลกหยาบ โดยมากจะเป็นนักบวช ดำรงชีพอยู่ด้วยการท่องเที่ยวไปในป่าเขาลำเนาไพร โลกทั้งโลกจะปรากฏเป็นภาพลวง แต่ความว่างจะกลายเป็นของจริงขึ้นมาแทน
ก่อนตายจะอยู่กับอรูปฌานที่ตนชินชำนาญ และแล้วเมื่อถึงวาระสุดท้าย จิตจะวูบดับจากความรู้สึกทั้งมวล คือคลายออกจากอรูปฌานเป็นจุติจิต แล้วเกิดปฏิสนธิจิตขึ้นใหม่ ถัดจากนั้นจึงกลับเข้าสู่ความรู้สึกตัวว่าอยู่ในอรูปฌาน โดยไม่มีรูปกายทิพย์ห่อหุ้ม ได้ชื่อว่าเข้าถึงความเป็นหนึ่งในหมู่สัตว์ที่เรียก อรูปพรหม จิตสามารถไหวตัวรับรู้ความมีความเป็นในจักรวาลได้ แต่เพิกเฉยไม่ยินยลสนใจ เพราะไม่ทราบจะไปข้องเกี่ยวด้วยอย่างไร จึงพักการก่อกรรมดีร้ายแบบสัตว์ในภพล่างๆเป็นเวลานานแสนนาน ด้วยความหลงเข้าใจผิดว่าภาวะของตนคงเป็นอมตะ เป็นนิรันดร์อย่างแท้จริง แท้จริงได้ชื่อว่าเป็นเพียง อรูปพรหม อันจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกเท่านั้น

๔) จิตอันเป็นไปในโลกุตตรภูมิ คือจิตที่มีเครื่องล่อเป็นอาการเกิดดับแห่งรูปนาม หรืออาการที่รูปนามแสดงความไม่ใช่ตัวตนออกมาให้ล่วงรู้ อย่างเช่นเมื่อฝึกสติรู้ลมหายใจได้เป็นปกติ ก็สามารถเห็นชัดว่าธาตุลมมีเข้า มีออก มีหยุด ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยง เช่นเดียวกับอารมณ์สุขทุกข์ทั้งปวง เช่นเดียวกับสภาพจิตที่สงบแล้วกลับฟุ้ง และเช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรมทั่วสากลจักรวาล ต่างก็แสดงตัวอยู่ตลอดเวลาว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุ แล้วมีอายุขัยที่จะต้องดับลงเป็นธรรมดา
เมื่อจิตมีปกติเห็นทั้งตนเองและสรรพสิ่งโดยความเป็นของที่ต้องดับลง ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนค้ำฟ้า ก็จะค่อยๆถอดความเข้าใจผิด และถอนตนออกจากหล่มกาม ถอนตนออกจากอุปาทานว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน กระทั่งเกิดธรรมชาติล้างผลาญเครื่องร้อยรัดจิตให้ติดอยู่กับสังสารวัฏ เป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสที่เรียกกันว่า พระอรหันต์ ไม่ต้องเวียนกลับมาทุกข์ซ้ำทุกข์ซาก เกิดแล้วแก่ แก่แล้วเจ็บ เจ็บแล้วตายเหมือนอย่างสัตว์อื่นที่ไม่รู้ทางออกอีก
พระอรหันต์จะเป็นผู้ไม่เห็นนิมิตหมายใดๆเมื่อใกล้ดับขันธ์ พวกท่านมีจิตสุดท้ายเป็นดับลงแล้วไม่มีจิตใดเกิดขึ้นสืบต่ออีก
แต่สำหรับผู้ที่เริ่มมีความเข้าใจความจริงเกี่ยวกับสังสารวัฏและทางออกจากสังสารวัฏ เริ่มกำหนดสติดูรูปนามเกิดดับ เริ่มมีความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจิตไม่ไยดีสิ่งอื่นนอกจากความเห็นรูปนามเกิดดับ ดังนี้ก็ถือว่าจิตเริ่มเข้ามาอยู่ในโลกุตตรภูมิแล้วเหมือนกัน เรียกว่าเป็นผู้พยายามเพื่อมี ดวงตาเห็นธรรม ธรรมในที่นี้คือความจริงสูงสุด ธรรมในที่นี้คือความว่างจากตัวตน ธรรมในที่นี้คือพระนิพพานอันปราศจากการเกิดและการดับ มีแต่ความเปิดเผยไร้ร่องรอยนิมิตอันใดสิ้น

ภพภูมิในมุมมองของผู้มีทิพยจักขุ

ในมุมมองของผู้มีจักษุอันเป็นทิพย์ ล่วงประสาทตาสามัญของมนุษย์ธรรมดา ภพภูมิเป็นเครื่องจำแนกผลกรรมที่ใหญ่ที่สุด เป็นภาพใหญ่ที่สุดที่เห็นได้ว่าใครเป็นใคร ทำอะไรมาอย่างหนักโดยมาก
สภาพของภพภูมิต่างๆนั้นเป็นคนละมิติกัน บางทีเทียบเคียงให้เข้าใจทั่วถึงได้ยาก อย่างเช่นเขตแดนในสวรรค์และนรกนั้น ไม่ใช่แผ่นดินซึ่งมีพื้นที่ตายตัว และไม่ใช่เขตต่อเนื่องถึงกันเหมือนดาวเคราะห์อย่างโลกเรา แต่นิมิตแห่งสภาพแวดล้อมเช่นความเป็นป่าเขา ลำธาร ต้นไม้ เปลวไฟ บ้านเรือน ปราสาทราชวัง พอจะเปรียบเทียบได้กับที่เห็นๆในโลกเรา เพียงแต่มีความหยาบและความประณีตผิดแผกแตกต่างจากกันตามลำดับภพภูมิ
อย่างไรก็ตาม จิตที่คิด จิตที่เห็นถูก จิตที่เห็นผิด จิตที่เสวยสุข จิตที่เสวยทุกข์ แม้เทียบน้ำหนักแล้วห่างชั้นกันเพียงใด ก็สามารถอนุมานเอาได้จากจิตแบบมนุษย์นี้ ฉะนั้นการชี้เน้นเข้ามาที่สภาพแห่งจิตย่อมก่อให้เกิดความรู้สึกสัมผัสถึงภพภูมิต่างๆได้มากกว่าการกล่าวถึงรูปทรงหรือสถาปัตยกรรมของเคหสถานในภพอื่นกันตรงๆ

สัตว์ในแต่ละภพภูมิจะเห็นว่าทั้งโลกมีแต่พวกของเขา และรู้สึกว่าไม่มีสิ่งอื่นสำคัญกว่าพวกของเขา ยกตัวอย่างง่ายที่สุดคือสัตว์ในภพมนุษย์ คือพวกเรานี่เอง ถึงแม้จะร่วมอาศัยในดาวเคราะห์ดวงเดียวกันกับสัตว์ในภพอื่น ก็จะมองไม่เห็น ทั้งเปรตและเทวดา หนักไปกว่านั้นคือแม้แต่เหล่าเดรัจฉานที่วิ่งกันให้เกลื่อน บางลัทธิยังอุตส่าห์สร้างความเชื่อว่าพวกมันไม่มีจิตวิญญาณ หรือเป็นเพียงวัตถุที่เกิดมาให้มนุษย์กัดกินโดยเฉพาะ
การไร้ความสามารถเห็นสัตว์จุติและอุบัติด้วยแรงกรรม การไร้ญาณหยั่งรู้ว่าภพภูมิอื่นมี โลกหน้ามี อดีตชาติมี ล้วนแล้วแต่ตีกรอบ ครอบมุมมองของพวกเราให้คับแคบจำกัด มีการถกเถียงกันที่โน่นที่นี่ว่าตายแล้วไปเกิดต่อหรือดับสูญ ทั้งๆที่เหล่าวิญญาณกำลังทะลักเข้าทะลักออก แลกเปลี่ยนหมุนเวียนจากฟากต่างๆไปสู่ฟากต่างๆอยู่ทุกวินาที แม้แต่มนุษย์กับเดรัจฉานก็มีการแลกฝั่งกันที่โน่นที่นี่อยู่ตลอดไม่ขาดสาย มนุษย์ตายกันวินาทีละประมาณ ๒ คน เราไม่รู้หรอกว่าแต่ละนาทีมีคนกลายร่างเป็นสัตว์กันทั้งหมดกี่ราย!
ความไม่รู้ ความไม่เห็น ล้วนเป็นความมืดทึบที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งเสียกว่าก้นลึกสุดของถ้ำ คนส่วนใหญ่เริ่มใช้เหตุผลกันออกมาจากความไม่รู้ และทะนงหลงยึดเหตุผลของตนว่าเป็นสิ่งน่าเลื่อมใส ส่วนใหญ่คนที่ได้ข้อสรุปจากเหตุผลของตนเองว่าชาติหน้าไม่มี ชาติก่อนไม่มี ผลกรรมไม่มี จะเป็นพวกที่ทำทุกสิ่งได้ตามอำเภอใจ กิเลสสั่งให้ทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องกลัวผลกรรม ไม่ต้องละอายต่อบาปใดๆทั้งสิ้น
ขอเพียงศึกษาและฝึก วิชารู้ตามจริง ของพระพุทธเจ้า จิตจะเหมือนแสงสว่างส่องเข้าไปเห็นที่มืดเดิม เริ่มตั้งแต่อาณาบริเวณที่เราแต่ละคนอาศัยอยู่นี่เอง และสามารถเห็นได้ว่าภพภูมิใหม่อาจฉายเงาได้ตั้งแต่ขณะยังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ทีเดียว
อย่างเช่นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียว ละโมบโลภมาก คิดแต่จะแสวงประโยชน์เข้าตัว จะมีเงามืดก่อตัวขึ้นเหมือนหลุมดำที่คอยดึงดูดเอาความชั่วร้ายทั้งหลายเข้าหาตัว แม้แกล้งทำดีมีเมตตา กระแสจิตก็จะไม่แผ่ผายออกทำความรู้สึกอบอุ่นใจให้แก่คนใกล้ชิดได้สักเท่าใด บางครั้งเขาอาจรู้สึกอึดอัด แต่ก็ไม่สนใจ เพราะกิเลสสั่งให้สนใจแต่การกอบโกยท่าเดียว
แม้ขณะเป็นมนุษย์เขาร่ำรวยจากการคดโกง แต่ผู้มีทิพยจักขุย่อมเห็นความร่ำรวยของเขาเป็นเพียงภพหลอกตา เพราะภพจริงที่จิตเขาก่อขึ้นนั้นคือความยากจนข้นแค้น เขาสร้างโซ่ตรวนรัดตนเองไว้กับดินแดนแห้งแล้งไร้ความอบอุ่นไว้ให้ตัวเองได้อยู่อาศัย เขาจะเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย หันหน้าไปหาความช่วยเหลือจากทางใดก็จะถูกปิดกั้นจากทางนั้น
การขาดแคลนน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลกก็คือการสร้างภพที่ขาดแคลนความชุ่มเย็นต่อตนเอง แม้จิตวิญญาณในปัจจุบันก็แห้งแล้งเหมือนดอกไม้ขาดน้ำ ขอเพียงมีน้ำใจ มีความคิดสละ ยิ่งมากเท่าไหร่ ใจจริงก็ยิ่งรินเมตตาออกมาเท่านั้น กระแสความรู้สึกที่ผายออกกว้างนั้นเองคือภพแห่งความสบายไม่ขัดสนในเบื้องหน้า

หรืออย่างเช่นคนที่ปราศจากศีล ไม่มีความซื่อสัตย์ ไร้ความอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุให้กระทำผิด จะมีเงามืดทาบทับจิตวิญญาณของเขาเหมือนยกกำแพงหนาทึบขึ้นตั้งบังแสงสว่าง เรื่องที่น่าจะรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกว่าดี กลับเห็นเป็นของเลว แต่ที่ชัดเจนว่าเลว กลับเห็นเป็นของดี ฤทธิ์ของกิเลสสามารถกลับจิตให้เห็นนกเป็นไม้ เห็นไม้เป็นนก ทำจิตให้เห็นดำเป็นขาว เห็นขาวเป็นดำได้อย่างเหลือเชื่อ
แม้ขณะเป็นมนุษย์เขาสะสวยหรือหล่อเหลาจากบุญเก่า หรือจากการเสริมแต่งด้วยศัลยกรรม แต่ผู้มีทิพยจักขุย่อมเห็นความสวยหรือหล่อของเขาเป็นเพียงภพหลอกตาชั่วคราว เพราะภพจริงที่จิตเขาก่อขึ้นนั้นคือความหม่นหมอง ปราศจากสง่าราศี ดูไม่น่าชื่นตาชื่นใจเหมือนเปลือกนอกที่ห่อหุ้มอยู่ แม้ตัวเขาเองจะทะนงในรูปลักษณ์ที่ดึงดูดเพศตรงข้ามได้ แต่ก็จะไม่ปลื้มใจกับความอัปลักษณ์ที่ฉายออกมาจากภายใน เป็นที่รู้อยู่แก่ใจตนเองเลย
การขาดสง่าราศีของศีลก็คือการสร้างภพที่ขาดความงามสะอาดตา แม้จิตวิญญาณในปัจจุบันก็มอมแมมเหมือนคนตกลงไปในบ่อโคลน ขอเพียงมีจิตใจใสสะอาด มีความคิดซื่อ ยิ่งมากเท่าไหร่ ใจจริงก็ยิ่งปราศจากมลทินเท่านั้น กระแสความรู้สึกที่หมดจดงดงามนั้นเองคือภพแห่งความดูดีไม่มีที่ติในเบื้องหน้า

ธรรมดาคนส่วนใหญ่จะครึ่งดีครึ่งร้าย จะไม่มีหลุมดำดึงดูดความชั่วร้ายเข้าสู่ตัวชัดเจน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีกระแสธารแห่งความเมตตาแผ่ผายออกมาล้นหลาม จึงเป็นเรื่องดูยาก ตัดสินยากสำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่ปราศจากญาณ หรือแม้กระทั่งผู้มีญาณเบื้องต้นที่ไม่ถึงระดับทิพยจักขุ ก็ไม่อาจสัมผัสได้แน่นอนว่าผู้ใดมีน้ำหนักเอนเอียงไปทางไหน
และแม้แต่ผู้มีทิพยจักขุซึ่งเห็นภพอันเป็นที่ไปของใครสักคนแจ่มชัด เพราะราศีสวรรค์แจ่มจ้าออกมาดูเรืองโรจน์โชติช่วง ก็ไม่อาจทำนายชนิดเอาคอเป็นประกันว่าใครคนนั้นจะต้องพุ่งขึ้นสวรรค์อย่างแน่นอน เนื่องจากภพของจิตเคลื่อนได้เรื่อยๆ วันนี้ชอบทำความดี วันหน้าอาจเคลื่อนไปชอบทำความชั่วโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว วันนี้ทำสมาธิได้ถึงฌาน วันหน้าอาจเคลื่อนหล่นลงมาเป็นคนฟุ้งซ่านสติแตก เพราะไปทำกรรมบางอย่าง เช่นอวดโอ้โอหัง ลองดีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปทั่ว อย่างนี้ก็มีให้เห็นมาก
โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยกับดักหลุมดำดึงดูดผู้คนให้ลงต่ำ ทั้งสื่อลามก ทั้งสงครามฆ่าฟัน ทั้งการแข่งขันแย่งความสำคัญกัน จึงไม่น่าสงสัยว่าความรู้ความเห็นของคนทั่วไปทำไมวิปริตผิดเพี้ยนกันใหญ่ บางทีเอาโจรมาเป็นพระเอก บางทีคนดีเหนียมอายกับการทำดี บางทีการทำเรื่องน่าละอายกลายเป็นการพิสูจน์ความใจถึง ภพของคนส่วนใหญ่จึงเป็นภพที่ชั่ว โดยไม่รู้ตัวว่าจิตของตนยึดติดอยู่กับภพที่ชั่ว เพราะสภาพแวดล้อมทั้งมวลพากันตะล่อมหลอกว่าภพที่ชั่วคือภพปกติของคนทั่วไป
ต่อเมื่อรู้จักพุทธศาสนา ศึกษาวิชา รู้ตามจริง ของพระพุทธเจ้า ก็จะได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรคือกุศล เป็นธรรมชาติด้านสว่าง มีความรุ่งเรือง เพื่อความสุขสบาย อะไรคืออกุศล เป็นธรรมชาติด้านมืด มีความอับทึบ เพื่อความทุกข์ร้อน จึงค่อยสามารถดึงตัวเองออกมาจากหลุมดำต่างๆที่ตนติดหล่มอยู่ได้ทีละเปลาะ

กำเนิด ๔ และคติ ๕

ภพน้อยใหญ่นั้นมีมากมายเหลือคณานับ และแม้วิธีอุบัติขึ้นในภพภูมิทั้งหลายก็ผิดแผกแตกต่างกัน พระพุทธเจ้าจำแนกความต่างอันสลับซับซ้อนให้เป็นของง่าย โดยแบ่งกำเนิดออกเป็น ๔ วิธี และคติออกเป็น ๕ สถาน

กำเนิด ๔ รูปแบบวิธีมีดังนี้

๑) อัณฑชะกำเนิด สัตว์เกิดโดยการชำแรกเปลือกแห่งฟองไข่
๒) ชลาพุชะกำเนิด สัตว์เกิดโดยชำแรกไส้ (ในมนุษย์หมายถึงมดลูก)
๓) สังเสทชะกำเนิด สัตว์เกิดในปลาเน่า ในซากศพเน่า ในขนมบูด หรือในน้ำครำ ในเถ้าไคล (คือในของสกปรกทั้งหลาย)
๔) โอปปาติกะกำเนิด เทวดา สัตว์นรก มนุษย์บางจำพวก และเปรตบางจำพวก (ผุดเกิดขึ้นเต็มตัวโดยมิได้อาศัยทางออกอื่น)

ส่วนคติหรือที่ไปนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าท่านกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ทราบชัดว่าผู้ใดปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ท่านสามารถเล็งเห็นด้วยทิพยจักขุอันล่วงจักษุของมนุษย์ ว่าผู้นั้นจะเข้าถึงคติที่เป็นไปได้ ๕ สถาน ดังนี้

๑) วิสัยนรก
ทั้งพระสาวกผู้มีทิพยจักขุในอดีตและปัจจุบัน ได้ใช้คำบรรยายตรงกันโดยมิได้นัดหมายคือเป็นสถานที่ที่ แออัดยัดเยียด กันระหว่างสัตว์นรกทั้งปวง ถ้าประมาณไม่ถูกก็ขอให้นึกถึงเหล่าหนอนไหน่ที่รุมเจาะไชซากศพ แม้จะมีปริมาณศพนับล้านร่าง ก็ยังไม่พอรองรับเหล่าหนอนที่มารุมไชกันเอาเลย! ผู้มีทิพยจักขุย่อมเห็นสังสารวัฏโดยความเป็นทุกข์ก็เพราะสัตว์นรกนั้นมีมากกว่าภพอื่น ทำนองเดียวกับที่โลกนี้ปรากฏว่ามีคนโง่มากกว่าคนฉลาดนั่นเอง เมื่อโง่เรื่องกรรมเรื่องเดียว ย่อมเป็นผู้ส่งตนไปนรกได้ง่ายดายนัก
สภาพความเป็นอยู่ในนรกนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสเปรียบไว้กับสภาพที่พวกเราพอนึกออกคือ เหมือนมีหลุมลึกยิ่งกว่าส่วนสูงของบุรุษหลุมหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยถ่านเพลิง ปราศจากเปลว ปราศจากควัน ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาสู่หลุมถ่านเพลิงนั้น (ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) และได้ตกลงไปเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว
สรุปคือนรกคือสถานที่ที่เน้นความแผดเผา และแปลว่าวิบากกรรมอันส่งสัตว์เข้าไปอยู่ในนรกต้องหนักหนาสาหัสเอาการ ที่แน่นอนคือพวกทำอนันตริยกรรม ๕ ซึ่งกล่าวไว้แล้วในบทก่อน และอีกประเภทหนึ่งคือพวกที่ทำบาปเผ็ดแสบ คือทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นไว้มาก และไม่มีบุญที่ช่วยประคองอยู่ บาปกรรมที่มีน้ำหนักมหาศาลจึงถ่วงเขาร่วงลงทะลุถึงพื้นนรกานต์จนได้

๒) วิสัยเดรัจฉาน
เราได้เห็นเดรัจฉานกลาดเกลื่อนบนดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งก็มีสภาพความเป็นอยู่หลากหลาย บางพันธุ์ได้ใกล้ชิดมนุษย์ เช่นสุนัขและแมว บางพันธุ์ก็อยู่ในป่าลึก เช่นช้างและเสือ
เราเห็นด้วยตาเปล่าว่าสัตว์แต่ละสายพันธุ์มีสติปัญญาแตกต่างกัน มีอัตภาพที่น่าอึดอัดและปลอดโปร่งผิดแผกกัน แต่ในสายพระเนตรของพระพุทธองค์ผู้หยั่งรู้และสามารถเปรียบเทียบเดรัจฉานกับภพภูมิอื่นได้ทั่วถึง ท่านตรัสไว้ว่า เหมือนมีหลุมซึ่งลึกยิ่งกว่าส่วนสูงของบุรุษหลุมหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยอุจจาระ ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาสู่หลุมอุจจาระนั้น (ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) และได้ตกลงไปเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อนยิ่ง
สรุปคือกำเนิดเดรัจฉานนั้น โดยรวมแล้วโสโครกน่ารังเกียจ ชวนให้อึดอัดระอา วิบากกรรมอันส่งสัตว์เข้าไปอยู่ในเดรัจฉานภูมิไม่หนักเท่าวิบากที่ส่งให้ถึงนรก แต่ก็ใกล้เคียง อาจจำแนกได้คร่าวๆว่าถ้าเป็นพวกโลภมาก จะไปเกิดในสายพันธุ์ที่อัตคัดขัดสนเรื่องอาหารและน้ำ ถ้าเป็นพวกโทสะแรง จะไปเกิดในสายพันธุ์ที่ต้องกัดกินกันเองหรือแย่งชิงอาหารกันด้วยความดุร้าย ส่วนถ้าเป็นพวกที่ตายขณะมีโมหะครอบงำ คือหลงมาก แต่ยังมีบุญเก่าประคับประคองอุดหนุน ก็อาจได้มาเป็นหมาแมวน่ารักที่มีคนเอ็นดูชุบเลี้ยง

๓) วิสัยเปรต
เปรตในความรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่มีเพียงจำพวกที่ร่างสูงโย่ง ปากเล็กจู๋ และมีความหิวกระหายเป็นอาจิณ ความจริงแล้วเปรตยังมีมากจำพวกกว่านั้นเยอะ และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีสภาพน่าทุเรศทุรังสถานเดียว บางพันธุ์มีภาพหลอกสูงส่งกว่ามนุษย์เสียอีก คือบางกาลปรากฏโดยความเป็นเทพ แต่บางกาลก็ปรากฏละม้ายสัตว์ในนรกภูมิชั้นต้นๆ
สำหรับความลำบากลำบนของพวกเปรตนั้น โดยรวมพระพุทธองค์ตรัสเปรียบว่า เหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่ลุ่มๆดอนๆไม่ราบเสมอกัน มีใบอ่อนและใบแก่อันเบาบาง มีเงาอันโปร่ง ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงต้นไม้นั้น (ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) แล้วนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาต้นไม้นั้น เสวยทุกขเวทนาเป็นอันมาก
สรุปคือกำเนิดแห่งเปรตนั้น โดยรวมแล้วสภาพแวดล้อมไม่ได้เผาลน และมิได้สกปรกโสโครกเท่านรกและเดรัจฉาน แต่ก็มีความไม่แน่นอน บางจุดบางเวลาอาจเร่าร้อนขึ้นได้ (เช่นที่พระพุทธองค์เปรียบเหมือนป่าโปร่งที่มีใบบังแดดฝนเพียงเบาบาง) หรืออาจไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวอยู่ด้วยอัตภาพของตนเอง วิบากกรรมอันส่งสัตว์เข้าไปอยู่ในภูมิเปรตไม่หนักเท่าวิบากที่ส่งให้ถึงเดรัจฉาน แต่ก็ใกล้เคียง คือยังอาจมีความรู้สึกถึงอัตภาพที่สูงส่งคล้ายมนุษย์อยู่ แต่ก็เสวยสุขแบบมนุษย์ไม่ได้อีกแล้ว
ตัวอย่างเช่นเปรตบางพันธุ์นั้นน่าสงสาร เพราะความจริงมีบุญมาก แต่ก่อนขาดใจตายเกิดผิดพลาดทางใจ เหมือนพระธุดงค์บางรูป ท่านก็อยู่ในกรอบวินัยพอสมควร แต่ประพฤติธรรมไม่ได้ถึงระดับมีคุณวิเศษ เช่นมรรคผลและฌานสมาบัติ ขณะใกล้มรณภาพท่านหิวกระหายจัด ไม่มีอาหารและน้ำตกถึงท้อง จิตไม่มีที่ยึดเหนี่ยวอันเป็นกุศลอื่น แต่ปักแน่วเข้าไปในความกระหายอยากอย่างรุนแรง เลยทำให้เกิดภพแห่งการแสวงหาอาหาร เดินท่อมๆอยู่ในราวป่าด้วยความนึกว่าท่านยังเป็นพระกำลังออกบิณฑบาตวนไปเวียนมา อัตภาพยังมีเครื่องนุ่งห่มเป็นจีวรและบาตรเหมือนพระอยู่ แต่ก็ไม่ได้มีไฟแผดเผา ไม่ได้มีของโสโครกมาแปดเปื้อนท่าน เพราะไม่ได้ก่ออกุศลกรรมหยาบช้าเอาไว้

๔) วิสัยมนุษย์
มนุษย์ก็คือพวกเรานี่เอง กำลังมีตัวเป็นๆและลมหายใจเข้าออกอยู่สดๆร้อนๆนี่แหละ เรียกว่าภพมนุษย์ วิสัยมนุษย์
ตัดเอาเพศพันธุ์ รูปร่างหน้าตา ฐานะ และสติปัญญาทิ้ง เอาเฉพาะสภาพแวดล้อมและอัตภาพความเป็นกายที่ผิวนอกแห้งสะอาดนุ่มนิ่มสบายตัวเหมือนอย่างนี้ เมื่อเทียบกับภพอื่นล่างๆลงไป พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบว่า เหมือนต้นไม้เกิดในพื้นที่อันราบเสมอกัน มีใบอ่อนและใบแก่อันหนา มีเงาร่มครึ้ม ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงต้นไม้นั้น (ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) แล้วนั่งหรือนอนภายใต้เงาไม้นั้น เสวยสุขเวทนาเป็นอันมาก
สรุปคือกำเนิดมนุษย์นั้น จัดว่าเป็นสุขแล้ว เหมือนคนกำลังเหนื่อย กำลังร้อน กำลังหิวกระหายได้มาพบที่ราบร่มรื่น มีป่าไม้ใบบัง กันแดดกันฝนได้อย่างดี ย่อมผ่อนคลาย หายล้า และยิ้มออกพอประมาณ แม้คนที่ได้รับความทุกข์จากเพศของตน รูปร่างหน้าตาของตน ฐานะของตน และสติปัญญาของตน ก็ควรทราบว่าเมื่อเปรียบกับภพภูมิอื่นที่ต่ำกว่านี้แล้ว ความเป็นมนุษย์ยังเหมือนที่พักกลางทางวิบากอันน่าชื่นชมกว่ากันมากนัก

๕) วิสัยเทวดา
เทวดามีความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับมนุษย์ คือยังเสพสุขจากกามคุณ ๕ คือเห็นรูปอันยวนตา ได้ยินเสียงอันรื่นหู สูดกลิ่นหอมอันเร้าใจ ลิ้มรสอร่อยชวนน้ำลายไหล และแตะต้องเครื่องกระทบอันมีสัมผัสอ่อนนุ่มน่าพิสมัย
ใครต่อใครอยากไปสวรรค์กัน เพราะเล่าลือว่าสำราญนัก หอมหวานยวนอารมณ์นัก งดงามบาดตาเร้าใจนัก ซึ่งก็สมควรแก่คำเล่าลือเหล่านั้น เพราะพระพุทธองค์ก็ทรงตรัสเปรียบไว้ เหมือนปราสาทแห่งหนึ่งซึ่งมีเรือนยอด ฉาบทาแล้วทั้งภายในและภายนอก หาช่องลมมิได้ มีวงกรอบอันสนิท มีบานประตูและหน้าต่างอันหับปิดดีในเรือนยอดนั้น มีบัลลังก์อันลาดด้วยโกเชาว์ขนยาว (ผ้าทำด้วยขนแพะ) ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะสีขาว ลาดด้วยขนเจียมเป็นแผ่นทึบ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชะมด มีเพดานกั้นในเบื้องบนมีหมอนแดงวาง ณ ข้างทั้งสอง ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาสู่ปราสาทนั้น (ด้วยเส้นทางคือกรรมที่ทำมา) แล้วนั่ง หรือนอนบนบัลลังก์ในเรือนยอด เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว
สรุปคือกำเนิดแห่งเทพนั้น จัดเป็นเขตแดนอันพึงถวิลถึงสำหรับสัตว์ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ไม่ถึงกับเกินจินตนาการมนุษย์อย่างเรา เราเสพสุขในกามคุณ ๕ กันอย่างไร เทวดาก็เสพในทำนองเดียวกันนั้น เพียงแต่ว่ามีความประณีตกว่า มีความเย้ายวนกว่า มีรสอันเลิศกว่ากันอย่างเทียบไม่ได้ เช่นที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบภพมนุษย์เหมือนป่าไม้ใบบังหนา ในขณะที่เปรียบภพเทวดาเหมือนปราสาทราชวังนั่นเลยทีเดียว
ขอให้ทราบว่าวิสัยเทวดานี้ พระพุทธองค์ทรงเหมารวมตั้งแต่เทพในกามาวจรชั้นแรกๆตลอดทั่วไปจนถึงพรหมทั้งที่มีรูปและไม่มีรูป เพราะฉะนั้นปราสาทราชวังที่พระองค์ตรัสเปรียบว่าน่าชื่นมื่นยิ่งสำหรับคนกำลังเหนื่อย กำลังร้อน กำลังหิว ยังมีระดับชั้นซอยย่อยออกไปอีกมหาศาล เอาเป็นว่าพระองค์ท่านกรุณาเปรียบเปรยให้เป็นที่เข้าใจง่าย จินตนาการตามได้แก่พวกเราเพียงคร่าวเท่านั้น

วิธีชี้ทางสวรรค์แก่ผู้ป่วยใกล้ตาย

ตั้งแต่โบราณกาลนานมา พุทธศาสนิกชนในไทยปรารถนาจะได้รับคำตอบประการหนึ่งอย่างยิ่งยวด คือเมื่อตัวเองใกล้จะตาย หรือเมื่อญาติอันเป็นที่รักเจ็บหนัก ควรจะช่วยเหลือกันอย่างไรเป็นการส่งให้ไปดี
วิธีที่นิยมกันมากคือให้คนตายท่องไว้ว่า พระอรหันต์ๆๆ คือจะให้กอดพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสไว้แน่นหนา ซึ่งก็นับว่าใช้ได้ถ้าผู้กำลังจะตายเข้าใจว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือคนเราถ้าทั้งชีวิตไม่เคยศึกษา ไม่เคยรู้จักพุทธธรรม จู่ๆจะให้ท่อง พระอรหันต์ๆๆ แล้วไปดีนั้นยาก เพราะจิตไม่รู้ว่าพระอรหันต์คือใคร บรรลุธรรมอันใดมา จึงเปรียบเหมือนเทวดายื่นเข็มทิศให้คนหลงป่าโดยปราศจากการแถมคู่มือใช้งาน แม้คนหลงป่าคว้าเข็มทิศไว้ได้ แต่ใช้เข็มทิศไม่เป็น ไม่รู้ว่าเข็มทิศคืออะไร ทำงานอย่างไร อย่างนี้ก็ต้องกลายเป็นผู้หลงทางต่อไปอยู่ดี

มาฟังธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบาใจ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่า เมื่อมีกษัตริย์องค์หนึ่งเสด็จไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ และได้กราบทูลถามว่าอุบาสกผู้มีปัญญาพึงกล่าวสอนผู้ป่วยซึ่งมีปัญญาด้วยกัน แต่กำลังได้เสวยทุกข์จากการเป็นไข้หนัก (ใกล้ตาย) ว่าอย่างไรดี พระพุทธองค์ตรัสให้สอนอย่างนี้คือ จงเบาใจเถิดว่าเธอมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ มีศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ มีศีลอันอยู่เหนือความทะยานอยากที่ผิดและความเห็นผิดทั้งปวงแล้ว และเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต
อันนี้หมายความว่าถ้าใกล้ตายอยู่ มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อย่างมั่นคง กับทั้งมีความเห็นชอบในเรื่องคุณและโทษ ในเรื่องบุญและบาป และน้อมใจรักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์จนจิตไม่แส่ส่ายกังวลไปในบาปทั้งหลายแล้ว ก็ย่อมเกิดความตั้งมั่น มีความเบาใจเป็นธรรมดาว่าจะจากไปสู่ความปลอดภัย
นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังตรัสว่าหลังจากปลอบเช่นนี้แล้ว ให้ถามผู้ป่วย (ในกรณีที่พ่อแม่ยังมีชีวิต) ว่ายังมีความห่วงใยในมารดาและบิดาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในมารดาและบิดา พวกท่านก็จะต้องตายไปอยู่ดี ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในมารดาและบิดาเสียเถิด
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในมารดาและบิดาได้แล้ว พึงถามเขาอีก (ในกรณีที่บุตรและภรรยายังมีชีวิต) ว่ายังมีความห่วงใยในบุตรและภรรยาอยู่หรือไม่? ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่าทุกคนต้องตายเป็นธรรมดาเหมือนกับเรา ถึงเราใส่ใจห่วงใยหรือไม่ห่วงใยในบุตรและภรรยา พวกเขาก็จะต้องตายไปอยู่ดี ฉะนั้นขอให้ละความห่วงใยในบุตรและภรรยาเสียเถิด
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในบุตรและภรรยาได้แล้ว พึงถามเขาอีกว่ายังมีความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์อยู่หรือ? (เช่นยังอยากเสพกาม ยังอยากเห็นสาวสวยหรือหนุ่มหล่อ ยังอยากฟังเพลงโปรดจากสุดยอดเครื่องเสียง ฯลฯ) ถ้าหากผู้ป่วยตอบว่ายังห่วงใย ก็ให้กล่าวว่ากามอันเป็นทิพย์ยังดีกว่า ประณีตกว่ากามอันเป็นของมนุษย์ ขอท่านจงพรากจิตให้ออกจากกามอันเป็นของมนุษย์ แล้วน้อมจิตไปในเทวดาชั้นต่างๆเถิด (คือเล่าพรรณนาตามที่พระพุทธองค์ตรัสยืนยัน ดังแสดงไว้แล้วในหัวข้อก่อน ว่าความสุขระดับเทพยดานั้นเหนือกว่าความสุขแบบมนุษย์เพียงใด ให้เขากำหนดใจเชื่อมั่นไว้ว่าการเสพกามในภพมนุษย์ยังสุขน้อยไป กายอันเป็นทิพย์ชวนให้เสพสมยิ่งกว่านั้น รูปเสียงบรรดามีในโลกที่น่าโปรดปรานที่สุดยังน่าพิสมัยน้อยไป รูปเสียงอันเป็นทิพย์ยังน่าอภิรมย์ยิ่งกว่านั้นมากนัก)
หากเขารับว่าสามารถละความห่วงใยในกามคุณ ๕ อันเป็นของมนุษย์ได้แล้ว พึงกล่าวว่าความสุขแม้ที่เหนือกว่ากามคุณ ๕ ในภพเทวดายังมี คือความสุขจากการเข้าสมาธิฌานในพรหมโลก แต่แม้จะได้เป็นถึงรูปพรหมและอรูปพรหมก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ยังนับเนื่องในความหลงผิดยึดมั่นถือมั่นว่าภพนั้นๆเป็นตน (หรือตนเป็นอมตะ) ขอจงพรากจิตให้ออกจากเทวโลกและพรหมโลก แล้วนำจิตเข้าไปในความดับจากการยึดมั่นถือมั่นเถิด
หากเขารับว่าสามารถถอนความยึดมั่นแม้ในเทวโลกและพรหมโลกแล้ว และได้นำจิตเข้าไปในความดับจากอาการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอะไรๆแล้ว เช่นนั้นพระพุทธองค์ตรัสว่าท่านไม่กล่าวถึงความต่างอะไรกันระหว่างผู้มีจิตพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้พ้นแล้วตั้งร้อยปี เพราะต่างก็พ้นด้วยวิมุตติเหมือนกัน

ขอให้ทราบว่าช่วงจังหวะใกล้ตายนั้นเป็นโอกาสทอง จิตกำลังหาทิศทางอันเป็นที่ไป ไม่ค่อยอาลัยสิ่งที่เห็นว่าตนกำลังจะต้องทิ้งไว้ในโลกนี้อีกแล้ว จึงมีความหนักแน่นเป็นพิเศษ หากเราพูดเหนี่ยวนำเขาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะได้ล่ะก็ ไม่ใช่แค่คนป่วยหนักจะเข้าถึงสุคติ แต่อาจมีจิตปล่อยวางได้ถึงที่สุดจริงๆ!
หากช่วงท้ายๆของผู้ป่วยสามารถเข้าใจธรรมะ สามารถยอมรับ สามารถเลื่อมใสศรัทธาเชื่อถือว่านิพพานเป็นของดี เป็นบรมสุขอันถาวรแล้ว ก็อาจสำทับลงไปตามแนวทางเปรียบเทียบคติต่างๆของพระพุทธองค์ คือกล่าวตามจริงว่านรกนั้นแผดเผา เดรัจฉานนั้นเน่าเหม็น เปรตนั้นลุ่มๆดอนๆ มนุษย์นั้นเริ่มสบาย ส่วนเทวดานั้นสุขจริง แต่ก็ไม่สุขได้ตลอด ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นภัยแห่งความไม่เที่ยงในคติต่างๆ และประมาณได้ว่าหากไม่หลุดพ้นไปจากวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็ย่อมพลาดเข้าสักวัน สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ถ้าคิดจะท่องเที่ยวเกิดตายไปเรื่อยๆ การหลีกเลี่ยงนรกมิใช่วิสัยที่จะเป็นได้
พระพุทธองค์ได้ตรัสสรุปไว้ชัดว่าความสุขระดับวิมุตติ คือหลุดพ้นจากความถือมั่นในภพทั้งปวงนั้นเป็นอย่างไร เราสามารถนำไปพรรณนาให้ผู้ป่วยใกล้ตายได้ฟังเพื่อความเลื่อมใสหนักแน่นขึ้น คือเปรียบแล้ว เหมือนสระโบกขรณี มีน้ำอันสะอาดใสเย็นอยู่ตลอด กับทั้งมีท่าอันดี น่ารื่นรมย์ และในที่ไม่ไกลสระโบกขรณีนั้นมีแนวป่าอันทึบ ลำดับนั้นบุรุษผู้มีร่างอันความร้อนแผดเผาทั่วสรรพางค์ มีความเหน็ดเหนื่อยสะทกสะท้าน และกำลังหิวกระหาย มุ่งมาถึงสระโบกขรณีนี้ทีเดียว เขาลงสนานกายและดื่ม ดับความกระวนกระวาย ระงับความเหน็ดเหนื่อยและความร้อนรุ่มเสียได้ แล้วจึงขึ้นไปนั่งหรือนอนในแนวป่านั้นเสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว เพราะกิเลสเครื่องหมักดองทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งในปัจจุบัน
สรุปว่าวิมุตติสุขนั้น เป็นสุขเดียวที่ดับความกระหายได้สนิท ขอให้สังเกตการเปรียบเทียบของพระพุทธองค์ว่าวิมุตติหรือความหลุดพ้นจากกิเลสนั้น เป็นสถานที่เดียวที่มีน้ำให้ดื่มกินดับกระหาย ดับความกระวนกระวาย ดับความร้อนรุ่มได้สนิท
ขอเพียงผู้ป่วยหนักใกล้ตายมีความเลื่อมใสอย่างนี้ ปล่อยวางภพภูมิทั้งหลายด้วยปัญญาอันถูกต้องอย่างนี้ แม้จิตขาดกำลังเพียงพอจะเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นความว่างจากภาวะทั้งปวง สงบจากการปรุงประกอบทุกข์ทั้งปวง อย่างน้อยที่สุดก่อนถึงวาระแห่งจุติจิต เขาย่อมเห็นนิมิตหมายอันเป็นมงคล เช่นเห็นองค์พระปฏิมาอร่ามเรือง หรือเห็นพระพุทธนิมิตเสมือนจริง หรือได้ยินเสียงเทศนาธรรมเพื่อความปล่อยวาง กระทำจิตให้แน่วไปในความเป็นมหากุศล เมื่อจิตสุดท้ายดับลง ย่อมเกิดจิตใหม่สืบต่อในสุคติภูมิอย่างแน่แท้ ไม่มีทางเลือนหลงพลัดตกลงไปสู่อบายภูมิได้เลยด้วยประการใดๆทั้งสิ้น

บทสำรวจตนเอง

๑) เราเป็นผู้มีความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ ว่าตนเองพรักพร้อมในการไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่?
๒) กรรมที่ทำเป็นประจำอันใด สร้างความอุ่นใจ สบายใจ มั่นใจ ว่าเรากำลังจะไปสู่สุคติ?
๓) กรรมที่ทำเป็นประจำอันใด สร้างความกังวล สับสน กลับไปกลับมา ว่าเราอาจมีทุคติเป็นที่ไป?
๔) เราเป็นผู้พร้อมจะละกรรมอันเป็นเหตุให้ไปทุคติ และพร้อมจะเพิ่มกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสุคติหรือไม่?
๕) เราพร้อมจะตายพร้อมกับความรู้สึกศรัทธาในพระพุทธเจ้าหรือไม่?

สรุป

มีหลายสิ่งที่เราไม่อยากให้มันเป็นเรื่องจริง แต่มันก็เป็นเรื่องจริงมาชั่วกัปชั่วกัลป์ ดังเช่นหลายคืนเราไม่อยากตกอยู่ในห้วงแห่งฝันร้าย แต่เมื่อเหตุแห่งฝันร้ายมีอยู่ เราก็ต้องนอนหลับอย่างทุกข์ทรมานโดยไม่อาจขัดขืนจนกว่าจะตื่น ชีวิตหลังความตายก็เช่นกัน แม้เราเชื่อว่ามันไม่มีด้วยความทะนงตน หรือแม้เราภาวนาขออย่าให้มันมี หรือแม้เราสามารถรณรงค์ให้คนทั้งโลกเชื่อว่าชาติหน้าเป็นนิทานเหลวไหล แต่ขอเพียงมีเหตุให้มันมี อย่างไรมันก็ต้องมี
มันจะมีหรือไม่มี ทางที่ดีไม่ประมาทไว้ก่อน ดังที่พระพุทธองค์ทรงชี้ว่าถ้าเราทำดีแล้ว ย่อมเป็นสุขในปัจจุบัน และถ้าชาติหน้ามี ก็จะต้องไปดีด้วย เรียกว่าสำเร็จประโยชน์ทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยการเพียรละความชั่วและสั่งสมความดีเข้าไว้ จะเป็นประกันชั้นเลิศสุด

การเปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิในแต่ละครั้งอาจหมายถึงการแก้ตัวใหม่จากที่เคยผิดพลาด หรืออาจหมายถึงการทดสอบซ้ำว่าเราดีทนแค่ไหน ธรรมชาติจะลบความจำเราเกี่ยวกับภพเดิมๆให้สูญสิ้นไป แต่กรรมที่ทำเป็นประจำจะทำให้เราเคยชินอยู่กับนิสัยเดิมๆ การจะเปลี่ยนแปลงตนเองได้จำเป็นต้องพบกับผู้รู้แจ้งแทงตลอดในกรรมวิบากทั้งปวงเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นการปลูกฝังความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระศาสดาจึงเป็นกุศโลบายที่ดีในการเดินทางไกล ใครสามารถอุ่นใจได้ว่าเราจะตายพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธองค์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้พกเอาเสบียงสำคัญที่สุดติดตัวไปด้วยแล้ว ยากแล้วที่จะพลัดไปมีครูผู้สอนสั่งเรื่องกรรมวิบากผิดๆ

สำคัญคือการปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธองค์นั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าลงมือปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ทั้งในแง่ของการฝึกเสียสละ รู้จักให้ทานเพื่อละความตระหนี่ และทั้งในแง่ของการบำเพ็ญตนเป็นผู้ปลอดโปร่งจากบาปอกุศลทั้งปวง รักษาศีลจนกลายเป็นที่รักยิ่งกว่าสิ่งยั่วยุใดๆ เมื่อประสบสุขทางใจเต็มอิ่มแล้ว ก็จะบังเกิดความเลื่อมใสว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้สอนความไม่เบียดเบียน เป็นผู้ชี้ทางตรง ทางถูก ทางไปสู่สวรรค์นิพพานได้จริง เมื่อนั้นศรัทธาจะไม่คลอนแคลน และเราจะเป็นผู้มีคติที่ไปอันประเสริฐเสมอ

ขอบคุณจาก dungtrin.com/whatapity/11.htm