โปงลาง
โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี มีลักษณะคล้ายระนาดแต่แขวนในแนวดิ่ง เป็นที่นิยมในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้พัฒนา
นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529 ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการพัฒนาโปงลางจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาโปงลางขึ้นจากเกราะลอ ซึ่งใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา
พระมหากรุณาธิคุณ
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2533 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงโปงลางที่วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสร้างความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสเฝ้าชมบารมี ขณะที่ทรงโปงลางอันเป็นสัญลักษณ์ของชาวกาฬสินธุ์
วิธีทำ
โปงลาง นิยมทำจากไม้มะหาด หรือไม้หมากเหลื้อม เพราะเป็นไม้ที่มีความอยู่ตัวมากกว่าไม้อื่นๆ วิธีการทำเอาไม้ที่แห้งแล้ว มาถากเหลาให้ได้ขนาดลดหลั่นกันตามเสียง ที่ต้องการในระบบ 5 เสียง โปงลาง 1 ชุดจะมีจำนวนประมาณ 12 ลูก ใช้เชือกร้อยรวมกันเป็นผืน เวลาตีต้องนำปลายเชือกด้านหนึ่งไปผูกแขวนไว้กับเสาในลักษณะห้อยลงมา ส่วนปลายเชือกด้านล่างจะผูกไว้กับหลัก หรือเอวของผู้ตี วิธีการเทียบเสียง โปงลาง ทำโดยการเหลาไม้ให้ได้ขนาด และเสียงตามต้องการ ยิ่งเหลาให้ไม้เล็กลงเท่าใดเสียงก็จะยิ่งสูงขึ้น ในสมัยอดีตโปงลางนั้นมีด้วยกัน 5เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่ในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาโดย นาย เปลื้อง ฉายรัศมีโปงลางที่ได้มาตรฐานจะต้องมี 6 เสียง 13 ลูก คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา (ต่อมามีเสียง ที ด้วย) ซึ่งแตกต่างจากระนาดซึ่งมีเจ็ดเสียง และมีการปรับแต่งเทียบเสียงด้วยการใช้ ตะกั่วผสมขี้ผึ้ง ถ่วงใต้ผืนระนาด เพื่อให้ได้ระดับเสียงตามที่ต้องการ
การตี
การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน มี หมอเคาะกับหมอเสิฟ หมอเคาะ คือผู้ที่ตีทำนองของเพลงหรือลายนั้น ส่วนหมอเสิฟ คือผู้ที่ตีประสานจะตี 2 ลูก เช่น ตี ลา-มี หรือ ซอล-เร เป็นต้น การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดย การสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" เพลง "ลายกาเต้นก้อน" เพลง "ลายแมงภู่ตอมดอกไม้" เป็นต้น
วิวัฒนาการของวงโปงลาง
แต่เดิมเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ยังไม่มีการผสมวงกันแต่อย่างใดใช้เล่นเป็นเครื่องเดี่ยวตามความถนัดของนักดนตรีที่มีอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ โอกาสที่จะมาร่วมเล่นด้วยกันได้ก็ต่อเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ เช่น บุญเผวด จะมีการแห่กันหลอนของแต่ละคุ้มหรือแต่ละหมู่บ้านมาที่วัดคุ้มไหนหรือหมู่บ้านไหนมีนักดนตรีอะไรก็จะใช้บรรเลงและแห่ต้นกันหลอนมาที่วัด พอมาถึงวัดก็จะมีการผสมผสานกันของแต่ละเครื่องมือ เช่น พิณ แคน ซอ กลองเป็นต้น หลังจากผสมผสานกันโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ก็จะแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเชื่อมเข้าหากันโดยเฉพาะนักดนตรีจะไปมาหาสู่กันร่วมกันเล่น ร่วมกันสร้าง ในที่สุดก็กลายเป็นวงดนตรีและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เช่น วงโปงลาง ปี พ.ศ.2505 หลังจากอาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจและศึกษาพัฒนา การตีและการทำเกราะลอจนเปลี่ยนชื่อมาเป็นโปงลางและได้รับความนิยมจากชาวบ้านโดยทั่วไป จากนั้นอาจารย์เปลื้องได้เกิดแนวความคิด ในการนำเอาเครื่องดนตรีอีสานชนิดอื่นๆ มาบรรเลงรวมกันกับโปงลาง จึงได้รวบรวมสมัครพรรพวกที่ชอบเล่นดนตรี มาบรรเลงรวมกัน ปรากฏว่าเป็นที่แตกตื่นของชาวบ้าน พอตกเย็นก็จะมีคนมามุงดูขอให้บรรเลงให้ฟัง แต่ละวันหมดยาเส้น ไปหลายหีบ ทำให้ได้รับความนิยม และเป็นที่สนใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก จนมีผู้ว่าจ้างไปบรรเลงเป็นครั้งแรกเนื่องในงานอุปสมบท ณ บ้านปอแดง ตำบลอุ่นเม่า อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในราคา 40 บาท เป็นที่ชื่นชอบของของผู้ที่พบเห็นและได้ฟังจากงานอุปสมบทของบ้านปอแดง และได้รับการติดต่อให้ไปแสดงอีกในหลายๆ ที่ ปี พ.ศ.2511 อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ได้นำคณะโปงลางไปร่วมแสดงเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันเฉลิมพรรษา 5 ธันวามหาราช จึงมีโอกาสที่ทำให้ได้พบกับนายประชุม อิทรตุล ป่าไม้อำเภอยางตลาด ซึ่งนายประชุมได้นำวงดนตรีสากลมาร่วมบรรเลงประกอบลีลาศ มหรสพที่แสดงในคืนนั้นมีคณะหมอลำหมู่ ซึ่งหัวหน้าหมอลำเป็นเพื่อนอาจารย์เปลื้อง ทั้งสองจึงไปขอยืมกลองชุดสากล เพื่อนำไปเล่นเข้ากับหมอลำ นายประชุมจึงไม่ขัดข้องแต่ต้องให้วงลีลาศเลิกก่อน หมอลำก็ทำการแสดงไปก่อนได้ครึ่งคืนก็ต้องพักทานข้าวตอนดึกจึงทำให้เกิดช่องว่างของเวทีผู้คนก็ยังไม่กลับยังรอดูหมอลำต่อ อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี จึงได้นำเอาโปงลางที่ตนนำมาขึ้นแขวนบนต้นเสาของเวที ในขณะนั้นหัวหน้าหมอลำก็ยังไม่รู้จัก และไม่เคยเห็น โปงลางมาก่อน ทุกคนก็เกิดความสงสัยว่าอาจารย์เปลื้องนำอะไรขึ้นมาแขวนกับต้นเสาบนเวที แต่พอคณะโปงลางบรรเลงขึ้น ทุกคนต่างตกตะลึง และสงสัยว่าสิ่งที่กำลังตีอยู่ในขณะนั้นคืออะไร หลังจากหมอลำกินข้าวเสร็จผู้ชมก็ยังไม่ยอมให้เลิกเล่น ขอให้เล่นต่อแทนหมอลำไปเลยก็ได้ จากการแสดงในครั้งนั้นนี่เอง นายประชุม ได้ชวนอาจารย์เปลื้อง ไปอยู่ด้วยโดยฝากให้เข้าทำงานที่โรงเลื่อยยางตลาด นายประชุม อินทรตุล จึงได้สนับสนุนและตั้งวงโปงลางขึ้น ชื่อว่าวงโปงลางกาฬสินธุ์ โดยมอบหมายให้อาจารย์เปลื้อง เป็นหัวหน้าวง จากผลงานการแสดงที่หลังจากตั้งวงแล้วไม่นาน นายบุรี พรหมลักขโนผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ติดต่อให้นำโปงลางไปแสดงออกรายการทีวีช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเผยแพร่ และท่านได้แนะนำว่าน่าจะมีชุดฟ้อนรำไปด้วยจะน่าดูยิ่งขึ้น นายประชุม อิทรตุล จึงมอบหมายให้คุณเกียง บ้านสูงเนิน คุณลดาวัลย์ สิงห์เรือง (ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปะกาฬสินธุ์ในขณะนั้น) และภรรยาของนายประชุมเองฝึกชุดฟ้อน ชุดแรก คือ รำซวยมือ ชุดที่สอง คือ ชุดเซิ้งภูไท ชุดเซิ้งสวิง ชุดบายศรีสู่ขวัญ และไทภูเขา ต่อมาคณะโปงลางกาฬสินธุ์ได้มีโอกาสไปแสดง ณ วังสวนจิตลดา วังละโว้ วังสวนผักกาด วังสราญรมย์ และแสดงเผยแพร่ในมหาลัยต่างๆ
การเล่นเป็นคณะ
โปงลาง นั้นนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงเป็นวงร่วมกับ เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณ แคน กลอง เพื่อการฟังและใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนพื้น บ้านอีสานได้เป็นอย่างดี ต่อมาภายหลัง อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ได้ประยุกต์วงโปงลางขึ้นใหม่ โดยนำกระดึงผูกคอวัวที่เป็นโลหะมาแขวนเรียงแทนลูกโปงลางเดิมที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดมิติของเสียงที่แตกต่างจากการบรรเลงโปงลางแบบเดิม นับเป็นต้นแบบของ การพัฒนาโปงลางในระยะต่อมา เช่น การทำลูกโปงลางด้วยแผ่นทองเหลืองขนาดต่าง ๆ เรียกว่า "หมากกะโหล่ง" รวมถึงการนำเอาไม้ไผ่มาเหลาให้มีขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า "โปงลางไม้ไผ่" และการนำเอาท่อเหล็กมาทำเป็น"โปงลางเหล็ก"ด้วย ทำให้เสียงมีความแตกต่างมากขึ้นและได้นำมาเล่นผสมวงกัน เกิดเป็นวง หมากกะโหล่งโปงลาง โดย วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
เครื่องดนตรีไทย
เครื่องดีด จะเข้ กระจับปี่ ซึง พิณเพียะ ไหซอง
เครื่องสี ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย สะล้อ ซอกันตรึม รือบับ
เครื่องตี เครื่องไม้ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม กรับ โปงลาง
เครื่องโลหะ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องมอญ ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ ฆ้องคู่ ฆ้องราว
เครื่องหนัง กลองแขก กลองมลายู ตะโพน ตะโพนมอญ เปิงมาง กลองทัด กลองยาว กลองสองหน้า โทน รำมะนา กลองสะบัดชัย กลองชาตรี กลองตะโพน กลองมังคละ กลองมโหระทึก
เครื่องเป่า มีลิ้น ปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน ปี่ชวา ปี่มอญ ปี่ไฉน ปี่กาหลอ แคน ปี่จุม ปี่อ้อ ปี่แน
ไม่มีลิ้น ขลุ่ยหลิบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยอู้ โหวด
เครื่องดนตรีอื่นๆ ขิม อังกะลุง ระนาดแก้ว บัณเฑาะว์
แบ่งตามภาค ภาคเหนือ สะล้อ(ทะล้อ) ซึง ขลุ่ย ปี่ ปี่แน พิณเปี๊ยะ(พิณเพียะ) กลองเต่งถิ้ง ตะหลดปด(มะหลดปด) กลองตึ่งโนง กลองสะบัดชัยโบราณ
ภาคอีสาน หืน แคน โหวด พิณ โปงลาง จะเข้กระบือ กระจับปี่ ซอกันตรึม กลองกันตรึม ปี่ไสล กรับคู่
ภาคกลาง ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย ปี่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก โทนรำมะนา กลองแขก กลองสองหน้า
ภาคใต้ ทับ กลองโนรา โหม่ง ปี่ แตระพวง(กรับพวง)